Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ยังไม่บรรรลุนิติภาวะ สามารถยื่นคำร้องขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่

ยังไม่บรรรลุนิติภาวะ สามารถยื่นคำร้องขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่

360
0

ยังไม่บรรรลุนิติภาวะ สามารถยื่นคำร้องขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2559

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ และ 317

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกผู้เสียหายที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2

โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท ค่าเสียหายที่ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ 100,000 บาท ค่าเสียหายต่อเสรีภาพ 100,000 บาท ค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน 200,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 500,000 บาท

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง วรรคสาม, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีกับฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำนวน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 12 ปี รวม 24 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีกับฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำนวน 4 กระทง จำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 32 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำนวน 6 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 36 ปี รวมทุกกระทงแล้วจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในคดีส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังว่า เด็กหญิง ป. โจทก์ร่วมที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 เป็นบุตรของนาง ธ. โจทก์ร่วมที่ 1 กับนาย น. โจทก์ร่วมที่ 1 หย่ากับนาย น. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 โดยตกลงให้โจทก์ร่วมที่ 2 อยู่ในความปกครองของนาย น. โจทก์ร่วมที่ 2 พักอาศัยอยู่กับนาย น. และมารดาเลี้ยง บ้านที่พักอาศัยดังกล่าวอยู่ใกล้กับบ้านของนาง ส. พี่สาวของนาย น. ซึ่งเป็นภริยาของจำเลย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองจะมีโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยได้กระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 หลายครั้ง หลายสถานที่ก็ตาม แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ได้เบิกความต่อศาลผ่านนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งสาบานตนแล้วถึงรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่กระทำต่อโจทก์ร่วมที่ 2 แต่ละครั้งแต่ละสถานที่เป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับเริ่มตั้งแต่ครั้งแรก จำเลยขับรถเก๋งไปรับโจทก์ร่วมที่ 2 ที่บ้านอ้างว่าจะพาไปส่งโรงเรียนแต่ขับรถเก๋งพาโจทก์ร่วมที่ 2 เข้าไปที่โรงแรม อ. แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 หลังจากนั้นจำเลยได้กระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 อีกหลายครั้งในรถเก๋งข้างถนนสายคลองอ้อม ข้างถนนทางเข้าด้านหลังมหาวิทยาลัย ศ. ที่บ้านของโจทก์ร่วมที่ 2 และที่บ้านของจำเลย ครั้งสุดท้ายจำเลยขับรถเก๋งพาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปที่โรงแรม อ. แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 สอดคล้องกับคำให้การของโจทก์ร่วมที่ 2 ในชั้นสอบสวน ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน ต่อหน้าพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีข้อให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งกล่าวหาและเบิกความปรักปรำจำเลยซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของตนเองเพื่อให้ต้องรับโทษโดยปราศจากมูลความจริง เพราะเรื่องดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ร่วมที่ 2 และครอบครัวได้รับความอับอายและเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง เชื่อว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความไปตามความจริง นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองยังมีบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของนาย พ. พนักงานรับรถลูกค้าที่โรงแรม อ. ที่ให้การยืนยันว่า ในวันที่ 22 เมษายน 2553 เวลา 10.40 นาฬิกา ได้มีลูกค้าขับรถเก๋ง หมายเลขทะเบียน สณ – 5140 กรุงเทพมหานคร เข้ามาใช้บริการสนับสนุนให้คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีแต่เพียงโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นพยานเพียงปากเดียว แต่เบิกความขัดต่อความเป็นจริงว่าจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 ที่โรงแรม ที่ข้างถนนสายคลองอ้อมริมถนนทางเข้าด้านหลังมหาวิทยาลัยศรี น. ที่บ้านของโจทก์ร่วมที่ 2 และที่บ้านของจำเลยหลายครั้ง โดยเฉพาะที่โรงแรมโจทก์ร่วมที่ 2 มีโอกาสร้องขอความช่วยเหลือและสามารถหลบหนีออกมาได้แต่กลับไม่กระทำ บริเวณข้างถนนเป็นที่สัญจรไปมามีผู้คนพลุกพล่าน บริเวณทางเข้าด้านหลังมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ใกล้ที่พักพนักงานรักษาความปลอดภัย ส่วนบริเวณบ้านของโจทก์ร่วมที่ 2 และบ้านของจำเลยก็มีผู้คนมาหาซื้อไม้ดอกและไม้ประดับจำนวนมาก จำเลยจึงไม่สามารถกระทำความผิดได้ก็ดี โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้นำพนักงานรับลูกค้าของโรงแรมมาเบิกความก็ดี ไม่ได้นำแพทย์มาเบิกความว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เคยผ่านการร่วมประเวณีมาก่อนหรือไม่ก็ดี หรือหลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้แจ้งให้ผู้ใดทราบเป็นพิรุธก็ดี พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบมาจึงรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า ในเรื่องเหล่านี้ จำเลยได้หยิบยกขึ้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยไว้อย่างละเอียดชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยซ้ำอีก ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นรายละเอียดปลีกย่อยไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบมาในคดีส่วนอาญามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับนาย น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของนาย น. บิดา ตามที่ตกลงกัน นาย น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนและฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพ ค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมานของโจทก์ร่วมที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเราอันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเป็นค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมานของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยยกฟ้องในส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นว่าค่าสินไหมทดแทนซึ่งถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 เรียกร้องแทนโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท มานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงที่จำเลยกระทำความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

สรุป

แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับ น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของ น. ตามที่ตกลงกัน น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องดังกล่าวจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา อันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย