Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ รถยนต์เบรคแตก ขับรถไปซ่อมโดยนายจ้างไม่ได้ใช้ ต้องรับผิดหรือไม่

รถยนต์เบรคแตก ขับรถไปซ่อมโดยนายจ้างไม่ได้ใช้ ต้องรับผิดหรือไม่

127
0

รถยนต์เบรคแตก ขับรถไปซ่อมโดยนายจ้างไม่ได้ใช้ ต้องรับผิดหรือไม่

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารประจำทางและเป็นนายจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ขับรถของจำเลยที่ 1 ในทางการจ้างด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย ต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 5,165 บาท และค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 10,000 บาท ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและพิจารณา

ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมราคารถ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าซ่อมรถและค่าเสื่อมราคาแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 รับคนโดยสารซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างแล้วจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันนั้นออกไปนอกเส้นทางสัมปทาน โดยไม่มีผู้โดยสารหรือคนเก็บเงินค่าโดยสารไปในรถด้วย เพราะรถของจำเลยที่ 1 เบรคแตก จำเลยที่ 2 ได้ขับรถไปซ่อมเบรคจึงเกิดชนกับรถโจทก์ จำเลยที่ 2 เอารถไปซ่อมเบรคนั้น เป็นกิจการเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางการจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย

โจทก์ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่รถโจทก์ถูกรถจำเลยชนนั้น แม้จะได้ซ่อมส่วนที่ชำรุดแล้ว ก็ยังทำให้รถโจทก์เสื่อมราคาลงอีกโสดหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ให้ค่าเสื่อมราคา 8,000 บาท นั้น สมควรด้วยรูปคดีแล้ว

รถที่ถูกชนนี้เป็นรถของโจทก์ที่มอบให้นายจำลองซึ่งเป็นนายช่างในประธานเป็นผู้ใช้ในตำแหน่งหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุแล้วนายจำลองได้นำรถที่ถูกชนไปซ่อมและชำระราคาค่าซ่อมโดยนายจำลองยืมเงินทดรองจากกรมชลประทานโจทก์ไปชำระก็ดี ถือได้ว่านายจำลองกระทำแทนหรือในนามของโจทก์นั่นเอง จำเลยจะเถียงเป็นทำนองว่านายจำลองทำไปในฐานะส่วนตัว โจทก์ไม่เสียหาย ไม่มีสิทธิเรียกร้องนั้น ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน