Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ รถเกิดอุบัติเหตุผู้เช่าซื้อมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่

รถเกิดอุบัติเหตุผู้เช่าซื้อมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่

366
0

รถเกิดอุบัติเหตุผู้เช่าซื้อมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายดังนี้ ก. ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องนำรถโดยสารไปซ่อมคิดเป็นเงินทั้งสิ้นตามบัญชีใบประเมินราคาการซ่อม 284,862.14 บาท ซึ่งปรากฏตามภาพถ่ายความเสียหายของรถท้ายฟ้องหมายเลข 2 และใบประเมินราคา ข. ค่าขาดรายได้จากการขับรถโดยสารเดือนละ 12,000 บาท กับค่าเช่าซื้อรถโดยสารเดือนละ 7,300 บาท นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องขอคิดเพียง 15 เดือน คิดเป็นเงิน 289,500 บาท และ ค. ค่าเสื่อมราคารถโดยสาร 80,000 บาท รวม 654,362.14 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 654,362 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทอาร์.เอส.ที. อินเตอร์ทรานส์จำกัด และบริษัทคูเนีย ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม โดยแสดงเหตุว่าบริษัทอาร์.เอส.ที.อินเตอร์ทรานส์ จำกัด เป็นนายจ้างของจำเลยซึ่งขับรถบรรทุกไปในทางการที่จ้าง และบริษัทคูเนีย ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เรียกว่าจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ

จำเลยร่วมที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยร่วมที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้จำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 374,862.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์ได้รับยกเว้นให้จำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 โจทก์ซึ่งมีอาชีพทำนาได้เช่าซื้อรถโดยสารซึ่งเป็นรถใหม่มาจากบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ ในราคาเช่าซื้อ 633,200 บาท โจทก์ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าในวันทำสัญญา 20,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระ 84 งวด งวดละเดือน งวดละ 7,300 บาท เริ่มงวดแรกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ชำระเพียง 5 งวด งวดที่ 5 ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2551โจทก์ใช้รถโดยสารรับส่งผู้โดยสารตลอดมา ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 เวลากลางวันขณะที่โจทก์จอดรถโดยสารรับผู้โดยสาร จำเลยลูกจ้างของจำเลยร่วมที่ 1 ขับรถบรรทุกตามฟ้องในทางการที่จ้างของจำเลยร่วมที่ 1 หลับในอันเป็นการขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนท้ายรถโดยสารของโจทก์ รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ผู้โดยสารในรถโดยสารคนหนึ่งและกำลังขึ้นรถอีกคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาว่าขับรถโดยประมาท ศาลพิพากษาลงโทษ คดีถึงที่สุดแล้ว รถบรรทุกที่จำเลยขับดังกล่าวได้มีการเอาประกันภัยไว้ต่อจำเลยร่วมที่ 2 ระบุให้จำเลยร่วมที่ 2 มีความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน 600,000 บาท ขณะเกิดเหตุอยู่ในระยะเวลาประกันภัย สำหรับความเสียหายของรถโดยสาร โดยหลังเกิดเหตุรถโดยสารได้ถูกนำไปไว้ที่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อ มีการประเมินความเสียหายโดยบริษัทขอนแก่นยนต์ จำกัด ตีราคาค่าซ่อม 284,862.14 บาท ตามใบประเมินราคาลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 ตรงกับเอกสารท้ายฟ้อง หลังจากเกิดเหตุโจทก์ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลย โจทก์อ้างว่าไม่มีรายได้ เมื่อโจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ให้โจทก์ส่งมอบรถโดยสารที่เช่าซื้อแก่ผู้ให้เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ถ้าส่งคืนไม่ได้ให้โจทก์ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 500,000 บาท ให้โจทก์ชำระค่าขาดประโยชน์ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทน แต่ไม่เกิน 6 เดือน ตามสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยตามคำพิพากษาดังกล่าวผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถแต่อย่างใด หลังเกิดเหตุโจทก์ติดต่อจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ไม่ได้รับการชดใช้ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 กรณีค่าเสื่อมราคารถโดยสาร ศาลชั้นต้นไม่กำหนดให้ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับค่าขาดรายได้จากการขับรถโดยสารที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ 90,000 บาท ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว ก็ดี และค่าเช่าซื้อรถโดยสารที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดให้ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องด้วยก็ดี โจทก์ไม่ได้ฎีกา จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ส่วนค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. ตามใบประเมินราคา ศาลชั้นต้นกำหนดให้ 40,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้เป็นจำนวนเต็มตามที่ระบุไว้ในใบประเมินราคา 284,862.14 บาท

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ที่ว่า โจทก์ทราบภายหลังว่าผู้ให้เช่าซื้อนำรถโดยสารไปขายในลักษณะขายซากรถ ตามสำนวนซึ่งรวมทั้งในชั้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ปรากฏว่าผู้ให้เช่าซื้อขายซากรถโดยสารไปเมื่อใด ก่อนหรือหลังโจทก์ฟ้อง เพราะโจทก์เบิกความหลังฟ้องนานถึง 1 ปี 3 เดือนเศษ อาจจะขายซากรถไปหลังจากโจทก์ฟ้องก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเสียหายส่วนนี้ที่โจทก์ฟ้องมาตามฟ้องข้อ ก. โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นค่าซ่อมรถโดยตรง กล่าวคือ จำเลยประมาทเลินเล่อขับรถบรรทุกชนท้ายรถโดยสาร ทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย จำเลยย่อมทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ค่าเสียหายส่วนนี้ที่โจทก์ฟ้องและนำสืบมาก็เป็นค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง โดยตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องนำรถโดยสารไปซ่อมคิดเป็นเงินทั้งสิ้นตามบัญชีใบประเมินราคาการซ่อม 284,862.14 บาท ซึ่งปรากฏตามภาพถ่ายความเสียหายของรถท้ายฟ้อง และใบประเมินราคาเอกสารท้ายฟ้อง และตามทางนำสืบของโจทก์ดังที่โจทก์เบิกความข้างต้นก็เห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์ยืนยันว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลย โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถโดยสารดังที่จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ฎีกา เพียงแต่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้โดยอิงกับใบประเมินราคา ซึ่งหากมีการซ่อมรถก็มีรายการและราคาตามใบประเมินราคานี้ ดังนั้น แม้รถโดยสารจะได้รับการซ่อมก่อนขายหรือไม่ หรือโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่าผู้ให้เช่าซื้อขายซากรถไปโดยที่ยังไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถโดยตรง แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทำละเมิดทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย แม้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยกล่าวว่าเป็นค่าซ่อมรถตามใบประเมินราคา ก็เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการวินิจฉัยอิงกับค่าซ่อมรถตามใบประเมินราคา นั่นเอง ทั้งตามคำเบิกความของโจทก์ข้างต้นก็มีเหตุผลดี เพราะโจทก์ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้ออยู่ ดังนั้น โจทก์ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. ได้ ส่วนโจทก์ควรได้รับค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. เพียงใดนั้น ปรากฏตามภาพถ่าย ว่ารถโดยสารได้รับความเสียหายมากทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง ค่าเสียหายย่อมเกิน 40,000 บาท เมื่อได้คำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดประกอบด้วยแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 284,862.14 บาท นั้น เหมาะสมดีแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีเพียง 244,862.14 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 4,897 บาท แต่จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 เสียมา 7,497 บาท เกินกว่าที่จะต้องเสีย 2,600 บาท ต้องคืนแก่จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2

พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 2,600 บาท แก่จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ