Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ลูกจ้างขับรถนอกเวลาราชการแต่มีการขออนุญาต นายจ้างต้องรับผิดหรือไม่

ลูกจ้างขับรถนอกเวลาราชการแต่มีการขออนุญาต นายจ้างต้องรับผิดหรือไม่

118
0

ลูกจ้างขับรถนอกเวลาราชการแต่มีการขออนุญาต นายจ้างต้องรับผิดหรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างพนักงานของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ ก.ท.ม. 6861 ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท ชนรถยนต์ ก.ท.ง. 6534 ของโจทก์เสียหายใช้การไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถ ก.ท.ม. 6861 เป็นของจำเลยที่ 2 จริงแต่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ มีหน้าที่ส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ให้แก่ประชาชนไม่ใช่พนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 รถ ก.ท.ม 6861 ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขจัดเป็นรถรับส่งข้าราชการของจำเลยที่ 2 เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนเกี่ยวกับการเดินทางไปและกลับจากทำงาน โดยเก็บเงินจากผู้โดยสารเป็นรายเดือน เพื่อเป็นเงินค่าจ้างจำเลยที่ 1ให้เป็นคนขับนอกเวลาราชการ ไม่ใช่การปฏิบัติราชการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 การจัดรถรับส่งผู้โดยสารเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ฎีกาที่ว่า การจัดสวัสดิการ จัดรถรับส่งข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ไม่ใช่ราชการของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการของจำเลยที่ 2 ในตำแหน่งบุรุษไปรษณีย์มีหน้าที่ขับรถรับส่งไปรษณีย์ภัณฑ์และรับส่งเงิน ถึงแม้ว่าการขับรถรับส่งข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขจะเป็นการปฏิบัตินอกเวลาปฏิบัติงานตามปกติของทางราชการก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขับรถนั้นตามมติของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เห็นว่าเป็นประโยชน์ในการที่ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขจะไม่ต้องมาปฏิบัติราชการสาย ทั้งอำนวยความสะดวกสบายและประหยัดแก่ข้าราชการอันเป็นการให้สวัสดิการแก่ข้าราชการ และเป็นประโยชน์แก่ราชการของจำเลยที่ 2 ด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทำงานตามทางการที่จำเลยที่ 2 จ้าง นอกจากนี้นางสาวอรุณ นายทองใส พยานจำเลยที่ 2 ยังเบิกความว่าเสียเงินค่าโดยสารให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินไว้ การที่จำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างพิเศษอีกเดือนละ 400 บาทนั้น ก็น่าจะเป็นเงินพิเศษค่าทำงานล่วงเวลา หาเป็นเหตุให้การกระทำของจำเลยที่ 1 มิใช่ราชการของจำเลยที่ 2 ไม่

ฎีกาที่ว่า กรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 2 ไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการของข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้จัดการและสมาชิกที่ลงมติให้มีกิจการอันนี้ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรค 2 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่า เมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ลงมติให้จัดรถรับส่งข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นสวัสดิการ เพื่อประโยชน์ที่ข้าราชการจะได้มาปฏิบัติราชการทันเวลา อันเป็นประโยชน์แก่ราชการของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำรถของจำเลยที่ 2 ไปบริการได้ตามที่ที่ประชุมได้ลงมติ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติงานในราชการของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรมเจ้าสังกัด หาอยู่นอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย

ในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เป็นการสมควรแล้ว

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยที่ 6 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถบรรทุกสินค้าไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 ได้กระทำไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วยโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1077 (2) และ 1087 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่แสดงตัวออกว่าเป็นนายจ้างจำเลยที่ 6 และเข้าไปติดต่อเจรจาเกี่ยวกับการใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตลอดมาถือได้ว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 4 เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 ด้วย

โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 6 และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 6 ขับรถไปในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ด้วย แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 6 หนังสือรับรองจำเลยที่ 4 ก็ไม่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วน และไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ร่วมลงทุนทำกิจการใดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือมีส่วนเป็นเจ้าของสินค้าที่บรรทุกมาในรถกระบะที่จำเลยที่ 6 ขับไปเกิดเหตุคดีนี้ คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันเกิดเหตุเท่านั้น ดังนี้จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดใด ๆ ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 6 กระทำ