Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ลูกจ้างขับรถออกนอกเส้นทาง เกิดเหตุชนกัน นายจ้างต้องรับผิดหรือไม่

ลูกจ้างขับรถออกนอกเส้นทาง เกิดเหตุชนกัน นายจ้างต้องรับผิดหรือไม่

179
0

ลูกจ้างขับรถออกนอกเส้นทาง เกิดเหตุชนกัน นายจ้างต้องรับผิดหรือไม่

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถจี๊ปเล็กของกรมชลประทานจำเลยที่ 2 โดยประมาท ชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เสียหายและโจทก์ที่ 2, 3 และ 4 ได้รับบาดเจ็บ ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ขับรถไปโดยพลการ ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้าง ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท ชนรถโจทก์เสียหายจริงดังฟ้อง แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่คน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถของกรมชลประทานจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากหัวหน้างานของจำเลยที่ 2 ให้ขับรถจี๊ปคันเกิดเหตุส่งนายช่างชลประทานไปตรวจราชการที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2509 จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติราชการอยู่จนถึงวันที่ 26 เดือนเดียวกัน จึงได้ขับรถคันเกิดเหตุกลับมาส่งนายช่างที่กรมชลประทานเมื่อเวลา 18.00 นาฬิกา เมื่อส่งแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขับรถไปหาอาหารรับประทานที่ตึกแถวถนนปากเกร็ด โดยไม่นำรถเข้าเก็บในอู่เก็บรถในกรมชลประทานตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ดื่มสุราประมาณ 10 นาที จึงขับรถเพื่อจะกลับที่พักในกรมชลประทานก็เกิดเหตุชนกับรถโจทก์เมื่อเวลา 18.00 นาฬิกาเศษ โดยประมาทของจำเลยที่ 1 จึงเห็นว่าการที่กรมชลประทานจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายรถคันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 1 ขับไปนั้น เบื้องแรกก็เพื่อให้จำเลยที่ 1 ขับไปใช้ในราชการของจำเลยที่ 2 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไว้ใจในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถกลับมาส่งนายช่างชลประทานที่กรมชลประทานเมื่อเวลา 18.00 นาฬิกา แล้วไม่นำรถเข้าเก็บตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 แต่ขับรถไปรับประทานอาหารจนเวลา 18.00 นาฬิกาเศษ จึงขับรถกลับที่พักของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในกรมชลประทานก็เกิดคดีนี้ขึ้นนั้นเห็นได้ว่า เวลาที่เกิดเหตุกับเวลาที่เสร็จการปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 1 ที่พานายช่างมาส่งนั้น เป็นเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน จำเลยที่ 1 ก็พักอยู่ที่บ้านพักของกรมชลประทาน รถก็ต้องเก็บที่อู่เก็บรถในกรมชลประทานจะถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 2 นำรถไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวไม่ถนัดนักเพราะเป็นเวลาคาบเกี่ยวกับที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 2 จึงต้องฟังว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในการละเมิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถของกรมชลประทานจำเลยที่ 2 ไปส่งนายช่างลงที่ที่ทำการของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งของหัวหน้างานของจำเลยที่ 2 แล้วไม่เอารถเก็บเข้าอู่ แต่ขับรถไปรับประทานอาหาร เสร็จแล้วขับรถเพื่อจะไปเก็บที่อู่รถของจำเลยที่ 2 ก็เกิดเหตุขึ้นเช่นนี้ ถือว่ายังอยู่ในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในทางการที่จำเลยที่ 1 ไปกระทำการละเมิดด้วย