Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ศาลฎีกาวินิจฉัยความรับผิดของนายจ้าง ในพฤติการณ์ไม่ขาดตอนไว้อย่างไร

ศาลฎีกาวินิจฉัยความรับผิดของนายจ้าง ในพฤติการณ์ไม่ขาดตอนไว้อย่างไร

438
0

ศาลฎีกาวินิจฉัยความรับผิดของนายจ้าง ในพฤติการณ์ไม่ขาดตอนไว้อย่างไร

ความรับผิดของนายจ้างในการที่ลูกจ้างกระทำละเมิด

ประเด็นหลัก: ความรับผิดชอบของนายจ้างต่อการกระทำละเมิดที่เกิดจากลูกจ้าง

หากเราพูดถึงความรับผิดในสถานการณ์ที่ลูกจ้างกระทำละเมิด ไม่ว่าจะเป็นกระทำที่ผิดกฎหมายหรือเสียหายต่อบุคคลภายนอก เรื่องของความรับผิดของนายจ้างก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องความรับผิดของนายจ้างในการที่ลูกจ้างกระทำละเมิดกัน

  1. หลักความรับผิดของนายจ้างตามกฎหมาย ในกฎหมายของบางประเทศ นายจ้างอาจต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่ลูกจ้างกระทำในระหว่างการปฏิบัติงาน นายจ้างอาจถูกถือว่ามีความผิดก็ต่อเมื่อมีหลักฐานแสดงว่านายจ้างเป็นผู้สนับสนุนหรือยินยอมให้ลูกจ้างกระทำความผิด ในกรณีนี้ นายจ้างจะต้องรับผิดชอบตามความผิดของลูกจ้าง
  2. ความรับผิดตามหลักการของ “วิกฤติการณ์ที่ควบคุมได้” นายจ้างอาจต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของลูกจ้างในกรณีที่เกิดวิกฤติการณ์ที่ควบคุมได้ หากนายจ้างไม่ได้ให้คำแนะนำ ควบคุม

ศาลฎีกาวางหลักในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4197/2563

    โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสอง 1,190,000 บาท และชำระค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

    จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

    จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

    ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 500,000 บาท และค่าปลงศพกับค่ารักษาพยาบาลรวม 190,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 190,000 บาท นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2557 (วันทำละเมิด) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ 47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 47,000 บาท นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2557 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

    โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

    ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 547,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และชำระเงิน 190,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 ตุลาคม 2558) จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 24,340 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

    จำเลยที่ 2 ฎีกา

    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกฤษณ ผู้ตาย โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กวข 916 ปราจีนบุรี จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานราชการ มีฐานะเป็นกรมและเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 2 รถกระบะ หมายเลขทะเบียน บล 48 นครราชสีมา เป็นของกลางที่ศาลมีคำสั่งริบในคดีอื่น และจำเลยที่ 2 ได้รับอนุมัติให้นำมาใช้ในการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บล 48 นครราชสีมา โดยประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กวข 916 ปราจีนบุรี ที่ผู้ตายขับขี่มา เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายและผู้ตายถึงแก่ความตาย ในคดีอาญาจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุด คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

    มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์ทั้งสองนำสืบบันทึกข้อตกลงในการทำงานระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลานกับจำเลยที่ 1 ว่าเป็นหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แม้จะไม่ปรากฏบันทึกที่ยืนยันว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 อยู่ก็ตาม แต่บันทึกดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารที่จัดทำขึ้นเองภายในหน่วยงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งอาจจะจัดทำไว้หรือไม่ อย่างไร ย่อมอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 เท่านั้น หากแต่เมื่ออุทยานแห่งชาติทับลานทำหนังสือลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 แจ้งไปยังผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปราจีนบุรี กลับไม่มีข้อความที่ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไว้อย่างชัดเจน ทั้งที่ระยะเวลาหลังเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน เพียงแต่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 นำรถกระบะคันเกิดเหตุออกมาใช้เพื่อกิจส่วนตัวโดยพลการ และไม่มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขับรถของทางราชการ นอกจากนี้ในช่วงเวลาเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติทับลานทำหนังสือ จำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน เมื่อนำพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวมาพิจารณาประกอบคำเบิกความของนายมรกตและถ้อยคำที่นายมรกตให้ไว้แล้ว ได้ข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกันว่า วันที่ 7 ตุลาคม 2557 นายมรกตใช้รถกระบะคันเกิดเหตุไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่งโดยให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปที่ป่าบุห้าร้อยบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวนพร้อมกับเจ้าหน้าที่อื่นด้วยและขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขับรถกลับไปที่หน่วยห้วยคำภู ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไป และอยู่ที่หน่วยดังกล่าวคนเดียวจนถึงวันเกิดเหตุ ทั้งที่นายมรกตเบิกความว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่กลับยินยอมให้จำเลยที่ 1 นั่งรถไปคันเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความผูกพันในหน้าที่เดิมอย่างไม่ขาดตอน พฤติการณ์แห่งคดีจึงบ่งชี้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงในการทำงานกับจำเลยที่ 2 อย่างไรเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หาได้มีผลผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสองด้วยไม่ เพราะการว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างชั่วคราวอันถือเป็นการจ้างแรงงานนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 มิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ คำเบิกความของนายมรกตที่เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 อยู่ที่หน่วยห้วยคำภูเพื่อรอขนย้ายสิ่งของเท่านั้น จึงขัดต่อพฤติการณ์ที่นายมรกตสั่งให้จำเลยที่ 1 นั่งรถกระบะคันเกิดเหตุไปยังบริเวณที่จะออกตรวจลาดตระเวน กับสั่งให้ขับรถกระบะคันเกิดเหตุกลับไปที่หน่วย พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบยังไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามคำสั่งที่ 96/2557 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้นายมรกตใช้รถกระบะคันเกิดเหตุได้ตลอดเวลาที่ต้องปฏิบัติงาน นายมรกตจึงมีอำนาจใช้และมีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบรถกระบะคันเกิดเหตุ การที่นายมรกตใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะดังกล่าวไปที่หน่วยห้วยคำภูและอยู่ประจำที่หน่วยดังกล่าวเพื่อรอรับนายมรกตกับเจ้าหน้าที่อื่นพร้อมกับผู้ต้องหาที่ถูกจับ การขับรถกระบะคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 หาได้เป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันเกิดเหตุไปเบิกถอนเงินแม้เป็นธุระส่วนตัว และบริเวณที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในเขตทำการที่จำเลยที่ 2 รับผิดชอบ แต่การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปกลับเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับงานที่จำเลยที่ 2 มอบหมายถือได้ว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 2 นายจ้าง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดเพียงใด เห็นว่า ผู้ตายได้รับบาดเจ็บสมองบวม เลือดออกในสมองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จัดพิธีศพตามพิธีทางศาสนา 3 วัน รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายที่ด้านหน้า ค่ารักษาพยาบาล 30,000 บาท ค่าปลงศพ 160,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ 47,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองคนละ 500,000 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบยืนยัน นับว่าเป็นค่าเสียหายที่ไม่ได้สูงเกินเหตุ ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้ตามจำนวนดังกล่าว จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

    พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ