Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ สิทธิเรียกค่าเสียหายเบื้องต้น ของทายาทผู้ตาย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

สิทธิเรียกค่าเสียหายเบื้องต้น ของทายาทผู้ตาย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

70
0

สิทธิเรียกค่าเสียหายเบื้องต้น ของทายาทผู้ตาย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 103,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 14 กันยายน 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบุตรของนายมณเฑียร ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ษจ 2568 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2550 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2550 นายวัฒนพงษ์ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไปตามถนนสุขุมวิท จากจังหวัดจันทบุรีมุ่งหน้าไปยังจังหวัดตราด ด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูงเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายวัฒนพงษ์ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายวัฒนพงษ์มีความผิดตามฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1334/2550 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 25 สิงหาคม 2550 ติดต่อจำเลยที่ 2 ขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 2 ปฏิเสธ สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจึงจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้โจทก์ 35,000 บาท ส่วนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับไม่ได้ประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 แต่อย่างใด สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา ข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่รถตั้งแต่สองคันขึ้นไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถ ให้บริษัทที่รับประกันภัยรถแต่ละคันจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัท” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับชนกับรถที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายมิได้เป็นผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ ทายาทของผู้ตายต้องไปเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทที่รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามมาตรา 20 วรรคสอง ซึ่งในขณะเกิดเหตุกฎกระทรวงกำหนดอัตราไว้ 35,000 บาท มิใช่ 100,000 บาท ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ารถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และไม่ปรากฏว่าเจ้าของรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 23 (1) ซึ่งกฎหมายบังคับให้สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจากสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถเป็นเงิน 35,000 บาท ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 65,000 บาท เป็นค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์โดยไม่ต้องคำนึงว่าเกิดจากความผิดผู้ใดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือไม่นั้น เห็นว่า เหตุในคดีนี้เกิดจากผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ข้ามถนนออกมาจากทางฝั่งซ้ายของถนนสุขุมวิทที่มุ่งหน้าไปยังจังหวัดตราดเพื่อกลับรถไปยังฝั่งตรงข้าม แม้โจทก์จะอ้างว่าผู้ตายขับรถข้ามถนนมาจนถึงบริเวณไหล่ทางและถูกชนขณะชะลอรถเพื่อจะข้ามร่องน้ำไปยังถนนฝั่งตรงข้าม แต่จำเลยทั้งสองก็มีนายวัฒนพงษ์นำสืบต่อสู้ว่าผู้ตายขับรถออกมาจากไหล่ทางด้านซ้ายเพื่อข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่งตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด ทำให้นายวัฒนพงษ์ไม่อาจห้ามล้อได้ทัน เมื่อโจทก์ไม่เห็นเหตุการณ์ ทั้งหากเป็นอย่างที่โจทก์เบิกความรถจักรยานยนต์ก็จะต้องได้รับความเสียหายจากด้านท้าย แต่ตามภาพถ่ายของรถคันเกิดเหตุ กลับปรากฏว่ารถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ทางด้านขวาทั้งคัน ลักษณะการชนจึงน่าจะเกิดจากการที่ผู้ตายขับรถตัดหน้ารถยนต์ในระยะกระชั้นชิดตามที่นายวัฒนพงษ์เบิกความ แต่เมื่อชนกันแล้วรถยนต์ยังไม่สามารถหยุดรถได้และลากรถจักรยานยนต์ไปทั้งคันไกลถึง 40 เมตร แสดงว่านายวัฒนพงษ์ก็ขับรถมาด้วยความเร็วสูง เหตุละเมิดจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายและนายวัฒนพงษ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงเป็นกรณีที่ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจากจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

สรุป

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่รถตั้งแต่สองคันขึ้นไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถ ให้บริษัทที่รับประกันภัยรถแต่ละคันจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัท” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับชนกับรถที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายมิได้เป็นผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ ทายาทของผู้ตายต้องไปเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทที่รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามมาตรา 20 วรรคสอง

รถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และไม่ปรากฏว่าเจ้าของรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 23 (1) ซึ่งกฎหมายบังคับให้สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจากสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถเป็นเงิน 35,000 บาท ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นได้อีก