Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ สิทธิในการอุทธรณ์ค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

สิทธิในการอุทธรณ์ค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

293
0

ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา: ความสำคัญและความเข้าใจ

ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา ทั้งสองฝ่ายต้องมีความเข้าใจถึงขั้นตอนและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา โดยเริ่มจากความหมายและวัตถุประสงค์ ตามด้วยวิธีการคำนวณ และปัจจัยที่ควรพิจารณา

  1. ความหมายของค่าสินไหมทดแทน ค่าสินไหมทดแทนคือการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหา การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนี้สามารถมาจากการตัดสินคดีอาญาหรือคำสั่งของศาล ความเสียหายที่ถูกชดใช้นั้นอาจรวมถึงทรัพย์สินหรือสิ่งของที่ถูกปล้น ค่าเสียหายต่ออาชีพหรือชื่อเสียง ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ และค่าความทุกข์ทรมานใจ
  2. วัตถุประสงค์ของค่าสินไหมทดแทน วัตถุประสงค์ของค่าสินไหมทดแทนก็คือ การเยียวยาผู้เสียหายโดยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิด

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 92, 288 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาตัวในโรงพยาบาล 79,445 บาท ค่าขาดรายได้ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพการงานได้ในระหว่างรักษาตัวและพักฟื้นร่างกาย 7 เดือน เดือนละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลในภายหลัง 120,000 บาท รวมค่าเสียหาย 899,445 บาท

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม เนื่องจากโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายก่อเหตุด่าว่าท้าทายจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยบันดาลโทสะ และค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมเรียกมานั้น สูงเกินส่วน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) (เดิม) ให้จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 8 เดือน ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในคดีส่วนอาญา ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 105,645 บาท แก่นายธนวัฒน์ และให้คืนค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท แก่นายธนวัฒน์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหาย กับนายการัณย์ภัทรและพวกรวม 6 คน ไปนั่งรับประทานอาหารและดื่มสุราที่ร้านของนางสุนันทา ต่อมาขณะเรียกเก็บเงินนายการัณย์ภัทรบอกให้พนักงานเสิร์ฟไม่ต้องเก็บเงินส่วนที่เป็นเศษอีก 7 บาท พนักงานเสิร์ฟทำสีหน้าไม่พอใจและพูดทำนองว่าจะออกเงินส่วนนี้ให้ก็ได้ ทำให้นายการัณย์ภัทรและผู้เสียหายไม่พอใจ นายการัณย์ภัทรไปต่อว่านางสุนันทาที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์และขอให้เรียกพนักงานเสิร์ฟคนดังกล่าวมาขอโทษ เมื่อนายการัณย์ภัทรเดินออกจากร้าน ผู้เสียหายกลับเข้ามาในร้านและต่อว่านางสุนันทาในเรื่องเดิมอีก จำเลยซึ่งกำลังซ่อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางสุนันทาอยู่ที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายหลายครั้งได้รับบาดเจ็บ สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่มีคู่ความฎีกา ความผิดดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า ขณะพูดคุยกับนางสุนันทาเรื่องการบริการของพนักงานเสิร์ฟได้ยินเสียงตะโกนว่า “มึงเก๋ามาจากไหนมาร้านกู” หันมาเห็นจำเลยเงื้ออาวุธมีดฟันที่ศีรษะจึงยกแขนขึ้นบัง จำเลยฟันผู้เสียหายอีกหลายครั้ง โดยมีนายศรีรัตน์ นางสาวสิริพร นางสาวณัฏฐณิชา เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกัน ทั้งยังปรากฏตามบันทึกคำให้การ ที่นางสุนันทารับว่าให้การไว้ ก็ได้ความว่า ขณะผู้เสียหายยืนต่อว่าตนเพื่อนผู้เสียหายเข้ามาห้ามปรามดึงตัวผู้เสียหายผลักหรือชกกระเด็นไป แม้ผู้เสียหายยืนยันให้ขอโทษและตบโต๊ะที่นั่งอยู่ จำเลยนั่งอยู่ด้านหลังพูดว่า เรื่องยังไม่จบอีกหรือ หลังจากนั้นเห็นเลือดของผู้เสียหาย ซึ่งคำให้การที่นางสุนันทารับว่าให้การหลังเกิดเหตุ 2 สัปดาห์ นับเป็นระยะเวลาที่มีโอกาสทบทวนรายละเอียดเหตุการณ์ หากมีเหตุเมื่อจำเลยพูดแล้วผลักผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายพยายามวิ่งอ้อมมาหลังเคาน์เตอร์แคชเชียร์ จำเลยวิ่งออกมาดันไม่ให้เข้าและเกิดชกต่อยกัน ซึ่งเป็นการกระทำที่ชัดแจ้งย่อมจดจำได้ นางสุนันทากลับไม่ให้การไว้เป็นกรณีผิดวิสัย เพิ่งมาเบิกความและนำบันทึกยื่นต่อศาล จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังเชื่อว่า เป็นการเบิกความไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิด คำให้การของนางสุนันทาย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังกว่า ประกอบกับไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวรู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย พยานหลักฐานโจทก์นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยทำร้ายผู้เสียหายโดยลำพัง ไม่มีเหตุป้องกันตัวดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างไร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่งมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งนั้น เห็นว่า คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้น จำเลยจึงไม่จำต้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่ง และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะคดีส่วนอาญาและให้ส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่ให้ส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่งมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่ง และเมื่อคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยและหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการก่อน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นการทำละเมิดต่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ และเห็นว่าเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 105,645 บาท เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 44/1 ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้น จำเลยจึงไม่จำต้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่ง และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะคดีส่วนอาญา และให้ส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่ให้ส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่งมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่ง และเมื่อคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลย และหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการก่อน