Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ หน้าที่นำสืบในคดีแพ่ง ในคดีประกันภัยเกี่ยวกับนายจ้าง โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฎรายละเอียดหรือไม่

หน้าที่นำสืบในคดีแพ่ง ในคดีประกันภัยเกี่ยวกับนายจ้าง โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฎรายละเอียดหรือไม่

246
0

หน้าที่นำสืบในคดีแพ่ง ในคดีประกันภัยเกี่ยวกับนายจ้าง โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฎรายละเอียดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1957/2534

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างพนักงานขับรถหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อในทางการที่จ้างหรือในกิจการของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวทับรถจักรยานยนต์เสียหายและทับนายมะนาวทับห่วง บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 437,780 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนและไม่ได้กระทำในทางการที่จ้างหรือในกิจการของจำเลยที่ 2 แต่เป็นผู้เช่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถยนต์บรรทุกชนนายมะนาว และมิได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2และขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างโดยความประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่นายมะนาว บุตรโจทก์ขับมาเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์นั้นเสียหาย และนายมะนาวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นต่อโจทก์ผู้เป็นมารดาของนายมะนาว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 225,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (6 ธันวาคม 2527)จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-0565 ยโสธร เป็นของจำเลยที่ 2 นายมะนาว ผู้ตายเป็นบุตรของโจทก์ ก่อนตายผู้ตายยังเป็นโสดและอาศัยอยู่กับโจทก์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2527 ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ซึ่งเช่าซื้อมาไปตามถนนสุขุมวิทถึงบริเวณปากซอยสุขุมวิท 95 แขวงบางจาก เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร ได้ถูกรถยนต์เฉี่ยวชนเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหายและผู้ตายถึงแก่ความตาย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-0565ยโสธรของจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และแจ้งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวชนผู้ตายถึงแก่ความตายต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่น (นายมะนาว) ถึงแก่ความตาย และความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 2 เดือน ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามข้อฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 80-0565ยโสธร ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ คดีนี้จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถชนจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับและมิได้ขับรถโดยประมาท โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับได้รับความเสียหายและผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่โจทก์มิได้อ้างหรือนำนายดำและนางแตงโม บินมา ประจักษ์พยานในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 21834/2527หมายเลขแดงที่ 27399/2527 ของศาลอาญา ที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาขับรถประมาทชนรถผู้อื่นเสียหายและเป็นเหตุให้ผู้อื่น(นายมะนาว) ถึงแก่ความตาย และความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก และศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไปแล้วมาเบิกความให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายไปคำเบิกความของตัวโจทก์ นายแคแสด พี่ชายผู้ตาย นางสาวมะเกลือน้องสาวผู้ตาย และนายแก้วเพื่อนผู้ตายพยานโจทก์ต่างก็มิได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่ผู้ตายถูกรถชนแต่อย่างใด ส่วนคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจมะหาด จ่าสิบตำรวจเสลา แจ้งลุสุขเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจรอยู่ปากซอยสุขุมวิท 62 และร้อยตำรวจเอกมะพร้าว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล พระโขนง พยานโจทก์ต่างก็เบิกความว่าได้รับแจ้งจากผู้อื่นว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกชนผู้ตาย มิได้เห็นเหตุการณ์ขณะที่ผู้ตายถูกรถชนเช่นเดียวกัน แม้ว่าจ่าสิบตำรวจมะหาดเบิกความว่าได้ขับรถจักรยานยนต์ตามรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยที่ 1ขับไปทันที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 101 และจับกุมจำเลยที่ 1 ได้และร้อยตำรวจเอกมะพร้าวเบิกความว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1ให้การรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 เพื่อไปบรรทุกสินค้าที่บางนาหรือสมุทรปราการ แต่มาเกิดเหตุเสียก่อน ซึ่งเป็นทำนองว่าขับรถชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้รับว่าขับรถโดยประมาทไม่ แม้โจทก์จะอ้างสำเนาคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และสำเนาคำพิพากษาศาลอาญาตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้วมาเป็นพยานคดีนี้ แต่ข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวก็หาได้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายและไม่ได้ขับรถโดยประมาท และโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ได้ความสมฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน.

สรุป

ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีแพ่งให้ร่วมรับผิดกับ จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง ข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ได้ความสมฟ้องจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์.