Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ หน้าที่ในการเปิดเผยความจริงโดยสุจริตในสัญญาประกันภัย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

หน้าที่ในการเปิดเผยความจริงโดยสุจริตในสัญญาประกันภัย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

228
0

หน้าที่ในการเปิดเผยความจริงโดยสุจริตในสัญญาประกันภัย ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6886/2542

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทุกสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เรียงตามลำดับ

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งห้าสำนวนฟ้องรวมความว่าขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 5,250,000 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามกรมธรรม์เลขที่ 0/70/04/000719 จำนวน 3,000,000 บาท และจำเลยที่ 5 ชำระเงินตามกรมธรรม์เลขที่ P 701762760 จำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามกรมธรรม์เลขที่ 0/7A/05/000481 จำนวน 500,000 บาท กับตามกรมธรรม์เลขที่ 0/7I/05/000947 จำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 5 ชำระเงินตามกรมธรรม์เลขที่ P 701674340 จำนวน 10,000,000 บาท และตามกรมธรรม์เลขที่ T 116838564 จำนวน 1,250,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 กับชำระเงินตามกรมธรรม์เลขที่ P 701760393 จำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และตามกรมธรรม์เลขที่ P 701762760 จำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 สิงหาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามกรมธรรม์ 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามกรมธรรม์จำนวน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ และตามกรมธรรม์จำนวน 1,500,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 สิงหาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 สิงหาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 5 ชำระเงินตามกรมธรรม์จำนวน 11,250,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์จำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และตามกรมธรรม์จำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิด โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยแต่ละคนรับผิดคนละ 100,000 บาท

จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทุกสำนวน ให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท 20,000 บาท 19,000 บาท 14,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า นายลั่นทมเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 มีโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตร เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2547 นายลั่นทมขอทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุกับจำเลยที่ 1 เงินเอาประกัน 5,000,000 บาท มีโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รับประโยชน์ตามแบบคำขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุ โดยนายลั่นทมตอบคำถาม ข้อ 6 ในเอกสารดังกล่าวว่าเคยเอาประกันภัยอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตกับจำเลยที่ 5 เงินเอาประกันภัย 10,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ตกลงรับประกันภัย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 นายลั่นทมขอทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุกับจำเลยที่ 2 เงินเอาประกันภัย 5,000,000 บาท มีโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รับประโยชน์ตามแบบคำขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุ และศาลจังหวัดนนทบุรี นายลั่นทมตอบคำถามข้อ 7 ในเอกสารดังกล่าวว่าเคยเอาประกันภัยอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตกับจำเลยที่ 5 เงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ตกลงรับประกันภัย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 และวันที่ 15 สิงหาคม 2548 นายลั่นทมขอทำสัญญาประกันอุบัติเหตุกับจำเลยที่ 3 เงินเอาประกันภัย 3,000,000 บาท 500,000 บาท และ 1,000,000 บาท ตามลำดับ มีโจทก์ทั้งสี่และโจทก์ที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้รับประโยชน์ตามแบบคำขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุ นายลั่นทมตอบคำถามในเอกสารว่า ไม่เคยเอาประกันภัยอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตกับผู้รับประกันภัยรายอื่น และในเอกสารว่า เคยเอาประกันภัยไว้กับผู้รับประกันภัยรายอื่น 2 ราย เงินเอาประกันภัย 5,000,000 บาท จำเลยที่ 3 ตกลงรับประกันภัย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 นายลั่นทมขอทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุกับจำเลยที่ 4 เงินเอาประกันภัย 2,000,000 บาท มีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประโยชน์ตามแบบคำขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุเอกสารหมาย ปล.32 (ศาลแพ่ง) นายลั่นทมตอบคำถามในเอกสารดังกล่าวว่า ไม่เคยเอาประกันภัยอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตกับผู้รับประกันภัยรายอื่น จำเลยที่ 4 ตกลงรับประกันภัย เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2548 วันที่ 28 มกราคม 2548 และวันที่ 6 มีนาคม 2548 นายลั่นทมขอทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุและประกันชีวิตกับจำเลยที่ 5 เงินเอาประกันภัย 10,000,000 บาท 250,000 บาท 1,000,000 บาท และ 400,000 บาท ตามลำดับ มีโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รับประโยชน์ตามแบบคำขอเอาประกันอุบัติเหตุ และแบบคำขอเอาประกันชีวิต นายลั่นทมตอบคำถามในเอกสารว่าเคยเอาประกันอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตกับจำเลยที่ 5 เพียงรายเดียวและไม่เคยถูกปฏิเสธไม่รับประกันภัยจากผู้รับประกันภัยรายอื่นมาก่อน กับตอบคำถามในเอกสารว่า ไม่เคยเอาประกันภัยอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตกับผู้รับประกันภัยรายอื่น และไม่เคยถูกปฏิเสธไม่รับประกันภัยจากผู้รับประกันภัยรายอื่นจำเลยที่ 5 ตกลงรับประกันภัยตามตารางกรมธรรม์ ซึ่งความจริงนายลั่นทมเคยขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุกับบริษัทไอเอ็นจี ประกันภัย จำกัด เงินเอาประกันภัย 10,000,000 บาท แต่บริษัทดังกล่าวปฏิเสธไม่รับประกันภัย ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา นายลั่นทมขับรถยนต์กระบะไปตามถนนสายกุมภวาปี – ท่าคันโท จากอำเภอศรีธาตุม่งหน้าไปทางอำเภอท่าคันโทและเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกน้ำมันที่แล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้นายลั่นทมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2548 และคู่ความรับข้อเท็จจริงว่า นายลั่นทมได้เอาประกันภัยไว้กับบริษัทอื่น ๆ ตามเอกสาร ซึ่งปรากฏตามเอกสารดังกล่าวว่าในขณะที่นายลั่นทมขอทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยทั้งห้า นายลั่นทมเอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นอีกนับสิบราย จำนวนหลายสิบกรมธรรม์ เงินเอาประกันภัยรวมกันประมาณ 47,000,000 บาท แต่นายลั่นทมปกปิดข้อความจริงดังกล่าวไม่แจ้งให้จำเลยทั้งห้าทราบ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า การที่นายลั่นทมปกปิดข้อความจริงที่ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทอื่นอีกหลายบริษัทเป็นเงินเอาประกันภัยจำนวนมากเป็นการไม่เปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญมีผลทำให้สัญญาประกันภัยตามฟ้องเป็นโมฆียะหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องการความสุจริตหรือความไว้วางใจระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญอย่างยิ่ง ข้อความจริงต่าง ๆ ที่ควรนำมาพิจารณาว่าจะตกลงทำสัญญาประกันภัยหรือไม่โดยปกติแล้วผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีโอกาสรู้แต่เพียงฝ่ายเดียว ผู้รับประกันภัยจะไม่มีโอกาสรับรู้ได้เลยหากผู้เอาประกันภัยไม่แจ้งให้ทราบ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยรับรู้ซึ่งเมื่อผู้รับประกันภัยรับรู้แล้วอาจเป็นเหตุจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือให้บอกปัดไม่ทำสัญญาก็ได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง ดังนั้นขณะที่นายลั่นทมขอทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยทั้งห้านายลั่นทมก็ได้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นอยู่ด้วยนับสิบรายเป็นจำนวนหลายสิบกรมธรรม์รวมเป็นเงินเอาประกันภัยประมาณ 47,000,000 บาท ย่อมถือได้ว่านายลั่นทมเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงภัยสูง เนื่องจากขอเอาประกันภัยไว้เป็นเงินจำนวนที่สูงโดยไม่ปรากฏหลักฐานข้อความจริงว่าการเอาประกันภัยตามจำนวนเงินที่สูงเช่นนั้นเหมาะสมกับฐานะหรืออาชีพของนายลั่นทมอย่างไรจึงอาจมีมูลเหตุจูงใจไปในทางที่ไม่สุจริต และหากจำเลยทั้งห้าได้รู้หรือควรรู้ข้อความจริงดังกล่าว จำเลยทั้งห้าก็ต้องนำข้อความจริงนั้นมาเป็นหลักในการพิจารณาว่าจะรับประกันภัยนายลั่นทมหรือไม่ ข้อความจริงดังกล่าวจึงถือว่าเป็นสาระสำคัญที่นายลั่นทมต้องเปิดเผยให้จำเลยทั้งห้าทราบซึ่งอาจจูงใจจำเลยทั้งห้าให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าแบบคำขอเอาประกันภัยไม่สามารถเขียนข้อความให้ครบถ้วนได้นั้น เห็นว่า หากนายลั่นทมไม่มีเจตนาปกปิดข้อความจริงดังกล่าว นายลั่นทมต้องระบุข้อความโดยย่อให้พอทราบได้ว่าในขณะขอทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยทั้งห้า นายลั่นทมได้เอาประกันภัยไว้กับผู้รับประกันภัยรายอื่นไว้แล้วจำนวนประมาณกี่ราย เป็นเงินเอาประกันภัยจำนวนประมาณเท่าไร เพื่อจำเลยทั้งห้าสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากนายลั่นทมก่อนที่จะตกลงทำสัญญาประกันภัยนั้น นอกจากนี้ในแบบคำขอเอาประกันภัยยังมีข้อความเตือนผู้เอาประกันภัยปรากฏไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งข้อความจริง มิฉะนั้นผู้รับประกันภัยอาจปฏิเสธความรับผิดได้ ซึ่งนายลั่นทมเคยเป็นตัวแทนประกันภัยมาก่อนย่อมต้องทราบเงื่อนไขดังกล่าวดี ดังนั้น การที่จำเลยทั้งห้ายอมตกลงเข้าทำสัญญาประกันภัยตามฟ้องกับนายลั่นทม จึงเกิดขึ้นจากความไม่สุจริตของนายลั่นทมที่ไม่เปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญให้จำเลยทั้งห้าทราบ หาใช่เกิดจากการที่จำเลยทั้งห้าละเลยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เอาประกันภัยไม่ สัญญาประกันภัยตามฟ้องย่อมตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งห้าได้บอกล้างโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง แล้ว สัญญาประกันภัยตามฟ้องจึงตกเป็นโมฆะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสี่อีกเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5,250,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 5,000,000 บาท โจทก์ไม่อุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่ฎีกา ทุนทรัพย์ชั้นฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงมีเพียง 5,000,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสี่เสียค่าขึ้นศาลส่วนนี้โดยคิดจากทุนทรัพย์จำนวน 5,250,000 บาท เป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินมา จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียมาเกินจำนวน 6,250 บาทแก่โจทก์ทั้งสี่

พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลที่โจทก์ทั้งสี่เสียมาเกินในส่วนทุนทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จำนวน 6,250 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

สรุป

วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษรไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุวันเริ่มต้นแห่งสัญญาหลังวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยเป็นเวลา 9 วันก็เป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกันเพียงเล็กน้อย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 กรณีนี้จึงต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กระทำขึ้น ณ วันแรกที่โจทก์ มี ฐานะเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย ซึ่งการตีความเช่นนี้ยังสอดคล้องกับหลักการตีความสัญญาในกรณีที่มีข้อสงสัย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายที่จะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นด้วยกรณีถือได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยแล้ว สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงผูกพันคู่ความทั้งสองฝ่าย เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัท ย. ผู้ให้เช่าซื้อได้แสดงเจตนาเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว โจทก์ผู้เอาประกันภัยจึงยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจากจำเลยผู้รับประกันภัยเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นตามสัญญา โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น แต่การที่โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้ พ. ภริยาโจทก์ไปเพราะต้องการบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศเท่านั้น แต่หลังจากที่โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยและเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์กับ พ. ภริยาโจทก์มิได้มีเจตนาโอนสิทธิการเช่าซื้อกันจริง การโอนเป็นเพียงเจตนาลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรติดรถยนต์สำหรับใช้ทางลัดผ่านเข้าออกกองทัพอากาศได้เท่านั้น สัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่ต้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังคงมีฐานะ เป็นผู้เช่าซื้อที่แท้จริงตลอดมาและยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นอยู่เช่นเดิม และแม้หากจะฟังว่าโจทก์ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวไป แต่การโอนสิทธิการเช่าซื้อก็ไม่ใช่การโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้บุคคลอื่นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยนั้นจึงยังไม่สิ้นผลบังคับไป