Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ อายุความฟ้องไล่เบี้ยจากลูกจ้าง ที่นายจ้างชดใช้แทน มีอายุความกี่ปี

อายุความฟ้องไล่เบี้ยจากลูกจ้าง ที่นายจ้างชดใช้แทน มีอายุความกี่ปี

258
0

อายุความฟ้องไล่เบี้ยจากลูกจ้าง ที่นายจ้างชดใช้แทน มีอายุความกี่ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2365/2533

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถโดยสารประจำทาง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2521 จำเลยได้ขับรถโดยสารประจำทางของโจทก์ไปในทางการที่จ้างด้วยความเร็วสูงพุ่งชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.บ. 43324 ด้วยความประมาท ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวและรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิด โจทก์ในฐานะนายจ้างจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยเป็นค่าซ่อมรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.บ. 43324ให้แก่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันนี้ เป็นเงิน 26,500 บาท กับค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์เป็นเงิน 24,500 บาท ที่จ่ายให้แก่บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัดรวมเป็นเงิน 51,000 บาท โดยจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยและได้หักค่าจ้าง 1,300บาท คงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์อีก 49,700 บาทโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยชำระเงิน49,700 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืน โจทก์จำเลยไม่ได้พิพาทกันเรื่องแรงงาน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2521 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 11 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความจำเลยไม่ได้ขับรถโดยประมาทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ค่าซ่อมแซมรถโจทก์ไม่เกิน3,000 บาท ค่าซ่อมแซมรถคู่กรณีไม่เกิน 5,000 บาท ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์เมื่อใด เกิดเหตุรถชนกันอย่างไร เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า

1. โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางหรือไม่

2. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

3. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

4. จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใดโดยขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามประเด็นข้อ 1และกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อนในประเด็นข้อ 3 และ 4

ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามประเด็นข้อ 1 ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยได้ขับรถและเกิดเหตุการณ์ตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้โดยยอมรับผิดใช้เงิน 51,155 บาทเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2521 ซึ่งค่าเสียหายจำนวนนี้ได้ลดลงเหลือ51,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินค่าเสียหายจำนวนนี้แทนจำเลยไปแล้วครบถ้วน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2523 โจทก์ได้หักเงินค่าจ้างจากจำเลยไปแล้วเป็นเงิน 1,300 บาท คงเหลือค่าเสียหายอีกเพียง 49,700บาท ตามฟ้อง จำเลยขอสละประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยาน

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2521 จำเลยได้ขับรถโดยสารของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน 1จ-9622 กรุงเทพมหานคร ชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ช.บ. 43324 ของบุคคลอื่นทำให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ยอมรับว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำเลยยินยอมรับใช้เงินจำนวน 51,155 บาท แก่โจทก์โดยยินยอมให้โจทก์หักเอาจากเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 200 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งจำนวนเงินที่จำเลยยอมชดใช้ให้โจทก์นี้ ต่อมาได้ลดลงเหลือเป็นเงิน 51,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.2 เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาอุบัติเหตุของโจทก์เป็นผู้พิจารณาให้จ่ายเงินจำนวน 26,500 บาท เป็นค่าซ่อมรถคันหมายเลขทะเบียน ช.บ. 43324 ให้แก่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัดผู้รับประกันภัยรถคันดังกล่าว และจ่ายเงินจำนวน 24,500 บาท เป็นค่าซ่อมรถของโจทก์ให้แก่บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ผู้รับจ้างซ่อมรถซึ่งรวมแล้วเป็นเงิน 51,000 บาท และโจทก์ได้ใช้เงินจำนวน26,500 บาท ให้แก่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด และใช้เงินจำนวน 24,500 บาท ให้แก่บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2523 และเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2523 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ได้หักค่าจ้างจำเลยใช้หนี้แล้วเป็นเงิน 1,300บาท จึงฟ้องให้จำเลยชดใช้อีกเป็นเงิน 49,700 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยชดใช้เงินรวมจำนวน 49,700 บาท ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากำหนดอายุความตามกฎหมายนั้น ให้นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์และของบุคคลอื่นเสียหาย ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายจากจำเลย และโจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยใช้ค่าเสียหายที่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นแก่เจ้าของ สำหรับเงินค่าซ่อมรถของโจทก์ที่เสียหายเนื่องจากการทำละเมิดของจำเลยจำนวน 24,500 บาท ซึ่งโจทก์ใช้ให้แก่บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัดผู้รับจ้างซ่อมที่ขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ได้นับแต่วันเกิดเหตุคือวันที่ 26 พฤษภาคม 2521 ซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงนับเริ่มตั้งแต่นั้น มิใช่นับเริ่มแต่วันที่โจทก์ใช้ค่าซ่อมรถของโจทก์ที่เสียหายให้บริษัทผู้รับจ้างซ่อมแม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ยอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องนั้นอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง แต่นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ คือวันที่ 28 มิถุนายน 2521 ถึงวันฟ้องก็เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยใช้เงินส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนเงินจำนวน 26,500 บาท ที่โจทก์ใช้ให้แก่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด เป็นค่าเสียหายจากการที่จำเลยขับรถชนรถที่บริษัทดังกล่าวเอาประกันภัยเสียหาย ซึ่งโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ให้โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยได้กระทำไปในทางการที่จ้าง เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินจำนวน 26,500 บาทซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัดผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้ว โจทก์ชอบที่จะได้รับชดใช้จากจำเลยได้เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทดังกล่าวไป ดังนั้นอายุความในกรณีนี้จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 17 เมษายน2523 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ใช้เงินค่าเสียหายให้แก่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด อันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ โจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533 จึงยังไม่พ้นกำหนด10 ปี ฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยใช้เงินส่วนนี้ จึงไม่ขาดอายุความแต่โจทก์ได้หักค่าจ้างจำเลยชดใช้ไปแล้วเป็นเงิน 1,300 บาท โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ให้อีกเป็นเงิน 25,200 บาทอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ จำนวน 25,200 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

สรุป

กำหนดอายุความตามกฎหมายนั้น ต้องเริ่มนับแต่ขณะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์และของบุคคลอื่นเสียหาย อันเป็นสิทธิเรียกร้องจากการที่ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย และที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ดังนี้ ค่าเสียหายในส่วนค่าซ่อมรถของโจทก์เองที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างซ่อมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ได้นับแต่วันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงนับเริ่มแต่นั้นมิใช่เริ่มแต่วันที่โจทก์ใช้ค่าซ่อมรถให้ผู้รับจ้างซ่อม ฉะนั้นแม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ตาม แต่นับตั้งแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องก็เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงขาดอายุความ สำหรับค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ในฐานนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลย เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ให้แก่บุคคลอื่นที่ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไปแล้ว โจทก์ก็ชอบจะให้รับการชดใช้จากจำเลยได้นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ให้บุคคลอื่น ดังนั้น อายุความกรณีนี้จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว อันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ.