Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ อายุความเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่การทำละเมิด ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

อายุความเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่การทำละเมิด ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

249
0

อายุความเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่การทำละเมิด ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2527

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์รับประกันภัยรถยนต์เบนซ์ โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดคอสโมอุตสาหกรรมเป็นผู้เอาประกันภัย จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกซึ่งมีนายต้อยติ่ง์เป็นคนขับ วันเกิดเหตุนายกล้วยไม้ขับรถยนต์เบนซ์คันดังกล่าวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต มุ่งหน้าไปดอนเมือง ขณะขับถึงหมู่บ้านสุขสันต์ นายต้อยติ่ง์ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยซึ่งจอดอยู่ข้างถนนทางด้านซ้ายออกรถหักเลี้ยวขวาเพื่อกลับรถเข้าเส้นทางแล่นสวนตัดหน้ารถเบนซ์โดยกระทันหันในระยะกระชั้นชิด นายกล้วยไม้ห้ามล้อแล้วแต่หยุดรถไม่ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์เบนซ์พุ่งเข้าชนบริเวณล้อหลังของรถยนต์บรรทุก รถยนต์เบนซ์พังยับทางด้านหน้าจนไม่สามารถใช้การได้อีก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนได้เปรียบเทียบปรับนายต้อยติ่ง์ฐานขับรถประมาท ส่วนนายกล้วยไม้ถูกดำเนินคดีในข้อหาขับรถเร็ว ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๓ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวและเป็นนายจ้างของนายต้อยติ่ง์ ซึ่งขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยในวันเกิดเหตุ โจทก์จ่ายค่าซ่อมและค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์เบนซ์ในฐานะผู้รับประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเป็นเงิน ๑๒๔,๐๙๑ บาท

จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้รับประกันภัยรถยนต์เบนซ์ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้อง รถยนต์บรรทุกไม่ใช่ของจำเลย นายต้อยติ่ง์ไม่ใช่ลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลย เหตุเกิดเพราะความประมาทของนายกล้วยไม้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๒๔,๐๙๑ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์รัประกันภัยรถยนต์เบนซ์หมายเลขทะเบียน ๙ ค.๐๒๐๕ กรุงเทพมหานคร โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดคอสโมอุตสาหกรรมเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๒ นายกล้วยไม้ ขับรถยนต์เบนซ์คันดังกล่าวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อไปถึงทางเข้าหมู่บ้านสุขสันต์ นายต้อยติ่ง ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน อ.ด.๑๘๓๖๖ ของจำเลยหักเลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์เบนซ์ เป็นเหตุให้รถยนต์เบนซ์ชนท้ายรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว รถยนต์เบนซ์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วเป็นเงิน ๑๒๔, ๐๙๑ บาทตามเอกสารหมาย จ.๙ จ ๑๑ จ ๑๓ และ จ.๑๔ โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฎีกาว่า พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาคนขับรถฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยว่าประมาทด้วยกันทั้งคู่ แม้ฝ่ายจำเลยจะยอมรับผิดถูกปรับไป แต่ฝ่ายโจทก์ยังถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายผิด โจทก์จึงไม่ทราบว่าตัวเองจะเป็นผู้เสียหายได้หรือไม่สิทธิเรียกร้องจึงยังไม่น่าจะเกิดขึ้น เมื่อคนขับรถฝ่ายโจทก์ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๓ ให้ไปมอบตัวเพื่อส่งฟ้องศาลในข้อหาขับรถเร็วเกินกำหนด โจทก์จึงทราบว่าพนักงานสอบสวนไม่ฟ้องฐานขับรถโดยประมาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย อายุความควรจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๓ ซึ่งนับถึงวันฟ้องไม่เกิน ๑ ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่การละเมิดมีอายุความ ๑ ปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ จึงเห็นได้ว่า ในกรณีความเสียหายอันเกิดแต่การละเมิดโดยขับรถยนต์ชนกันด้วยความประมาทนั้นสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันละเมิด ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาว่าขับรถด้วยความประมาทหรือไม่ก็ตาม เพราะเหตุที่รถชนกันอาจเกิดจากความประมาทของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว หรือเกิดจากความประมาทของทั้งสองฝ่ายก็ได้ หากเกิดจากความประมาทของทั้งสองฝ่าย การวินิจฉัยค่าเสียหายย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๒ คือแล้วแต่ฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากัน ฉะนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๒ นายต้อยติ่ง ลูกจ้างของจำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาท โดยขับเลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์เบนซ์ของฝ่ายโจทก์โดยกระทันหันในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้รถยนต์เบนซ์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย แสดงว่าโจทก์ยืนยันว่าความเสียหายของรถยนต์เบนซ์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้นั้นเกิดจากการทำละเมิดของลูกจ้างจำเลย เจ้าของรถยนต์เบนซ์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายได้ตั้งแต่วันเกิดเหตุคือวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นวันเกิดการละเมิดอายุความ ๑ ปี จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจากเจ้าของรถยนต์เบนซ์ทีเสียหายก็ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันเกิดเหตุเช่นเดียวกันหาใช่สิทธเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ฟ้องคนขับรถยนต์เบนซ์ในข้อหาขับรถโดยประมาทดังฎีกาของโจทก์ไม่ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาว่า โจทก์รู้ตัวจำเลยเป็นผู้เป็นนายจ้างและเป็นเจ้าของรถซึ่งจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์ เมื่อขนส่งจังหวัดอุดรธานีตอบมาให้ทราบในเดือนธันวาคม ๒๕๒๓ นับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน ๑ ปี คดียังไม่ขาดอายุความพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าโจทก์เป็นบริษัทประกันภัยมีส่วนได้เสียโดยตรงกับรถยนต์เบนซ์ที่รับประกันภัยไว้เกิดอุบัติเหตุชนกับรถบรรทุกของจำเลย เจ้าหน้าที่ฝ่ายอุบัติเหตุของโจทก์ย่อมจะต้องทำการสำรวจตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนี้ เพื่อให้ทราบว่าเป็นความผิดของฝ่ายใดทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายในเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิด ข้อเท็จจริงปรากฏตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้วว่า นายต้อยติ่ง คนขับรถของจำเลยยอมรับว่าขับรถโดยประมาทจริงและพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว จึงฟังได้ในเบื้องแรกว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิด ฉะนั้น ที่นายแพงพวย ชีพจารนัย ผู้ช่วยแผนกชดใช้ค่าเสียหายของบริษัทเอเฟียไทย จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดำเนินการต่าง ๆเกี่ยวกับอุบัติเหตุคดีนี้ เบิกความว่าวันเกิดเหตุได้จ้างเจ้าหน้าที่ฝ่ายสำรวจของบริษัทยูไนเต็ดเซอเวย์เยอร์ส แอนด์ แอดจัส เตอร์ส จำกัด ไปสำรวจแล้ว และทราบชื่อคนขับรถและเจ้าของรถบรรทุกแล้ว แต่ไม่ทราบที่อยู่ของจำเลยนั้นน่าเชื่อว่าเป็นความจริง จึงเห็นว่า เมื่อโจทก์ทราบว่ารถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน อ.ด.๑๘๓๖๖ คันเกิดเหตุเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.อุดรก่อสร้าง จำเลยในวันเกิดเหตุแล้ว แม้จะยังไม่ทราบที่อยู่ของจำเลยก็ดี ก็ถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ แล้ว ส่วนที่อยู่ของจำเลยนั้น โจทก์ย่อมขอตรวจสอบจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้โดยง่าย จึงไม่เป็นอุปสรรคที่จะฟ้องภายใน ๑ ปี ไม่ได้แต่อย่างใด ที่โจทก์ไม่ฟ้องจำเลยภายใน ๑ ปี นับแต่วันเกิดเหตุ มีเหตุผลน่าเชื่อว่าโจทก์รอฟังผลคดีที่นายกล้วยไม้ คนขับรถยนต์เบนซ์คันเกิดเหตุถูกฟ้องหาว่าขับรถเร็วเกินกำหนดตามคำเบิกความของนายแพงพวย ชีพจารนัย นั่นเอง ต่อมาเมื่อศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๓ เป็นเวลาเกิน ๑ ปี นับแต่วันเกิดเหตุโจทก์จึงได้หาหลักฐานเอกสารหมาย จ.๒ มาแสดงว่าเพิ่งทราบที่อยู่ของจำเลยซึ่งไม่มีน้ำหนักรับฟัง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ไม่ขึ้น

พิพากษายืน

สรุป

สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่การละเมิดมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

เมื่อโจทก์ทราบว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยในวันเกิดเหตุแล้ว แม้จะยังไม่ทราบที่อยู่ของจำเลยก็ดี ก็ถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 แล้ว