Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ อำนาจพักใช้ใบอนุญาต ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

อำนาจพักใช้ใบอนุญาต ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

467
0

อำนาจพักใช้ใบอนุญาต ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157, 160 ตรี พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42, 64 และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราว (ที่ถูก ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวฉบับที่ 60007701) ของจำเลย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 ตรี วรรคสาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 (ที่ถูก 42 วรรคหนึ่ง), 64 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถในขณะเมาสุรา ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย และฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ปรับ 800 บาท รวมจำคุก 1 ปี และปรับ 20,800 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,400 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ (ที่ถูก ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ฉบับที่ 60007701) มีกำหนด 6 เดือน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคสาม ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ยกคำพิพากษา (ที่ถูกคำพิพากษาศาลชั้นต้น) ที่ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ (ที่ถูกใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ฉบับที่ 60007701) มีกำหนด 6 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้พักใช้ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ฉบับที่ 60007701 ของจำเลย มีกำหนด 6 เดือน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 นี้ แม้มิใช่โทษที่ใช้สำหรับลงโทษผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 ก็ตาม แต่ก็มีบทบังคับเช่นเดียวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยด้วยเจตนาคุ้มครองประชาชนหรือสังคมเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ไปขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นอีกตามความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนทั่วไปมิให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการกระทำของผู้กระทำความผิด การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่จึงเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยที่มีความสำคัญเพื่อป้องปรามมิให้ผู้ขับขี่กลับไปกระทำความผิดในช่วงระยะเวลาที่ถูกพักใช้ใบอนุญาต ทั้งตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (15) ให้คำนิยามคำว่า รถ หมายถึง ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถราง ดังนั้น รถจักรยานยนต์และรถยนต์จึงอยู่ในความหมายของคำว่า รถ ด้วย ซึ่งการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่จะอยู่ในลักษณะ 19 บทกำหนดโทษดังเช่นมาตรา 157/1, 160 ทวิ, 160 ตรี โดยมิได้กล่าวถึงการขับขี่ยานพาหนะชนิดหนึ่งชนิดใดแล้วให้ศาลมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะที่เกี่ยวข้องหรือชนิดนั้นไว้โดยเฉพาะ แต่เป็นการกล่าวถึงการขับขี่ยานพาหนะที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดแล้วให้ศาลมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดไปยุ่งเกี่ยว ควบคุม หรือขับขี่ยานพาหนะทั้งหมดที่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก ศาลจึงต้องสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ทุกกรณี ไม่ว่าใบอนุญาตขับขี่นั้นจะเกี่ยวข้องกับยานพาหนะที่ผู้กระทำความผิดขับขี่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม แม้จำเลยมีใบอนุญาตขับขี่รถคนละประเภทกันกับรถที่จำเลยขับในขณะกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวมีกำหนด 6 เดือน นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยมาดังนี้แล้ว เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาที่ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวของจำเลยกำหนด 6 เดือน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัย เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยอีก เห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสาม บัญญัติว่า ให้ศาลมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าสองปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ การที่ศาลชั้นต้นสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวของจำเลยมีกำหนด 6 เดือนนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวของจำเลย ฉบับที่ 60007701 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2