Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เงินช่วยค่าปลงศพที่ช่วยเหลือ สามารถนำมาหักออกจากค่าเสียหายได้หรือไม่

เงินช่วยค่าปลงศพที่ช่วยเหลือ สามารถนำมาหักออกจากค่าเสียหายได้หรือไม่

218
0

เงินช่วยค่าปลงศพที่ช่วยเหลือ สามารถนำมาหักออกจากค่าเสียหายได้หรือไม่

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,773,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,650,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 287,008 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 266,985 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2554 ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าปลงศพแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน246,985 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในต้นเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยรับผิดไม่จำกัด กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าปลงศพแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 36,985 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาและโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจสุชาติ ผู้ตาย จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฮง 7851 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ไปในหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการศพผู้ตาย และโจทก์ที่ 2 เสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าปลงศพผู้ตายเป็นเงิน 246,985 บาท

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 2 มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเป็นค่าปลงศพผู้ตายเพียงใด โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า เงินช่วยค่าปลงศพ 10,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 และเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 200,000 บาท ที่จำเลยที่ 3 ชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าปลงศพ ศาลอุทธรณ์นำเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากค่าปลงศพที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นการไม่ถูกต้อง เห็นว่า เงินช่วยค่าปลงศพ 10,000 บาท เป็นเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ประสงค์ชำระให้โจทก์ที่ 2 ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นค่าปลงศพ จึงต้องนำมาหักออกจากค่าปลงศพผู้ตาย ส่วนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 200,000 บาท เป็นเงินที่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 ทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของค่าเสียหายเบื้องต้นในกรณีทำให้เขาถึงตาย ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ซึ่งผู้ประสบภัยหมายความรวมถึงทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายด้วย และมาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง เมื่อค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 คงมีเพียงค่าปลงศพผู้ตาย เงินค่าเสียหายเบื้องต้นที่จำเลยที่ 3 ชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 จึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนอันเป็นค่าปลงศพซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้รับแล้ว จึงต้องนำมาหักออกจากค่าปลงศพผู้ตายด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

เงินช่วยค่าปลงศพ 10,000 บาท เป็นเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ประสงค์ชำระให้โจทก์ที่ 2 ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นค่าปลงศพ จึงต้องนำมาหักออกจากค่าปลงศพผู้ตาย ส่วนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 200,000 บาท เป็นเงินที่จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 ทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของค่าเสียหายเบื้องต้นในกรณีทำให้เขาถึงตาย ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ซึ่งผู้ประสบภัยหมายความรวมถึงทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายด้วย และมาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง เมื่อค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 คงมีเพียงค่าปลงศพผู้ตาย เงินค่าเสียหายเบื้องต้นที่จำเลยที่ 3 ชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 จึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนอันเป็นค่าปลงศพซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้รับแล้ว จึงต้องนำมาหักออกจากค่าปลงศพผู้ตายด้วย