Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เงินที่ได้จากประกันสังคมที่เสียชีวิต ถือเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดหรือไม่

เงินที่ได้จากประกันสังคมที่เสียชีวิต ถือเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดหรือไม่

238
0

เงินที่ได้จากประกันสังคมที่เสียชีวิต ถือเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5128/2546

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นมารดาของนายกระดังงามี อริภู จำเลยเป็นกรมในรัฐบาลมีนายองุ่น เป็นอธิบดี มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการในสังกัด นายดำ เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2541 เวลาประมาณ 18 ถึง 19 นาฬิกา ขณะนายกระดังงามีซึ่งขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-5246 อุบลราชธานี ได้จอดรถยนต์ไว้ตรงบริเวณไหล่ทางช่องเดินรถของตนโดยหน้ารถหันไปทางอำเภอเขื่องใน แล้วลงมาตรวจดูความเรียบร้อยของรถเนื่องจากฝนตกและขณะยืนอยู่ท้ายรถยนต์นายดำได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น – 6737 สุรินทร์ ของจำเลยมุ่งหน้าไปอำเภอเขื่องในเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่สถานีเครื่องส่งโทรทัศน์หนองขอน โดยรถยนต์คันดังกล่าวมีไฟหน้าเพียงดวงเดียวได้พุ่งชนนายกระดังงามีอัดเข้ากับท้ายรถยนต์ถึงแก่ความตายทันทีพร้อมกับนายดำ และรถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหายโจทก์เป็นหญิงหม้ายอาศัยนายกระดังงามีผู้ตายเพียงคนเดียวหาเลี้ยงครอบครัวและมีบุตรของผู้ตายซึ่งเป็นผู้เยาว์อีก 3 คน ต้องเลี้ยงดูขอเรียกค่าเสียหายเป็นค่าปลงศพจำนวน 50,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะรวมเป็นเงิน1,050,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2541 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยให้การว่า นายดำ เป็นข้าราชการสังกัดของจำเลยได้ขับรถโดยประมาทอันเป็นเหตุให้นายกระดังงามี อริภู ผู้ตายบุตรของโจทก์ถึงแก่ความตายจริง ค่าปลงศพไม่เกิน 10,000 บาท เพราะจัดงานศพเพียง 1 คืน มีคนไปร่วมงานไม่มากการเผาศพก็ไม่ได้ใช้เมรุ ค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิน 50,000 บาท เนื่องจากโจทก์มีค่าใช้จ่ายเพียงวันละไม่เกิน 50 บาท และผู้ตายมีอาชีพไม่มั่นคง นอกจากนี้โจทก์รับเงินจากสำนักงานประกันสังคมเป็นเงินค่าทำศพ 16,200 บาท เงินทดแทนรายปี ปีละ 9,900บาท จำนวน 8 ปี เป็นเงิน 79,200 บาท ถือว่าโจทก์ได้รับเงินทดแทนค่าขาดไร้อุปการะเพียงพอแก่การดำรงชีพแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยค่าขาดไร้อุปการะเพราะเป็นเงินที่พึงได้ในอนาคตขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์3,000 บาท แทนโจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น ให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับการยกเว้นต่อศาลในนามของโจทก์

 

จำเลยฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นมารดาของนายกระดังงามี อริภู จำเลยเป็นกรมในรัฐบาลและเป็นต้นสังกัดของนายดำ ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนายดำได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-6737 สุรินทร์ ด้วยความประมาทเลินเล่อพุ่งชนนายกระดังงามี ซึ่งได้จอดรถยนต์หมายเลขทะเบียน81-5246 อุบลราชธานี ไว้ตรงบริเวณไหล่ทางและลงจากรถยนต์คันดังกล่าวมาดูความเรียบร้อย เป็นเหตุให้นายกระดังงามีถูกรถยนต์ที่นายดำขับชนอัดเข้ากับท้ายรถยนต์ที่นายกระดังงามีจอดไว้และนายกระดังงามีถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า โจทก์สมควรได้รับค่าปลงศพเพียงใด จำเลยฎีกาว่าสภาพศพของนายกระดังงามีเละมากต้องใช้ผ้าห่อรวมกันมาจนไม่สามารถจะฉีดยารักษาศพได้ ศพนายกระดังงามีจึงไม่สามารถเก็บไว้ได้ถึง 3 คืน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ามีการสวดพระอภิธรรมศพนายกระดังงามีเพียง 1 คืน เท่านั้น และค่าใช้จ่ายในการปลงศพโจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงจึงไม่เกิน 10,000 บาท ฝ่ายโจทก์มี โจทก์ นางมะหิน เพื่อนบ้านโจทก์และนายมะพร้าว ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่โจทก์และนายกระดังงามีผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ต่างเบิกความยืนยันว่ามีการสวดพระอภิธรรมศพของนายกระดังงามีเป็นเวลา 3 วันโดยเฉพาะนายมะพร้าวเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดคำเบิกความจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ฝ่ายจำเลยคงมีนางทับทิม เพียงปากเดียวที่เบิกความว่า สภาพศพของนายกระดังงามีเละมากไม่สามารถตั้งศพสวดพระอภิธรรมได้ 3 คืน และนางทับทิมไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพด้วย แต่นางทับทิมกลับเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ทราบจากเพื่อนร่วมงานว่ามีการเผาศพของนายกระดังงามีในวันรุ่งขึ้น แสดงว่านางทับทิมไปในงานสวดพระอภิธรรมศพของนายกระดังงามีเพียง 1 คน นางทับทิมจะทราบได้อย่างไรว่าไม่ได้มีการสวดพระอภิธรรมศพ 3 คืน เห็นว่า แม้สภาพศพของนายกระดังงามีจะเละมากจนไม่สามารถจะฉีดยารักษาศพได้ แต่การตั้งศพสวดพระอภิธรรมได้จัดขึ้นที่วัดในชนบทมิได้จัดขึ้นที่บ้าน การสวดพระอภิธรรมศพ 1 คืนยังกระทำได้ ดังนั้นการจัดให้มีการสวดพระอภิธรรมศพ 3 คืน ก็ชอบที่จะกระทำได้เช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์จัดให้มีการสวดพระอภิธรรมศพของนายกระดังงามี 3 คืนจริง แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานอันเป็นค่าใช้จ่ายมาแสดง แต่เมื่อคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์และนายกระดังงามีแล้ว เห็นว่า โจทก์ทำงานในโรงเลื่อยไม้ทำหน้าที่แบกไม้และขนขี้เลื่อยได้ค่าจ้างวันละ 80 บาท ถ้าโรงเลื่อยไม้ไม่เปิดทำการก็จะไม่ได้ค่าจ้าง ส่วนนายกระดังงามีรับจ้างขับรถยนต์ให้โรงเลื่อยไม้ได้ค่าจ้างเดือนละ 5,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าปลงศพให้โจทก์20,000 บาท นั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปว่า โจทก์สมควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า ค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท เป็นจำนวนที่สูงเกินไป แม้เงินที่โจทก์ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมจะไม่เกี่ยวข้องกับเงินค่าขาดไร้อุปการะก็ตาม ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวมาเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนส่วนหนึ่งแล้วย่อมเพียงพอต่อการดำรงชีวิตนั้น เห็นว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมเป็นค่าทดแทนที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 18 เป็นการจ่ายเงินเพื่อการคุ้มครองแรงงานไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม ได้ จำเลยไม่อาจอ้างค่าทดแทนที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับดังกล่าวมาเพื่อขอลดหย่อนค่าขาดไร้อุปการะได้ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้วที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท นั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อสุดท้ายมีว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าขาดไร้อุปการะในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ค่าขาดไร้อุปการะเป็นการชดเชยหนี้ในอนาคตโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดไม่ได้ คงคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเทียบตามคำพิพากษาศาลฎีกา 928/2527 และ 1617/2512 นั้น เห็นว่า ค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์เรียกร้องมานั้น เป็นหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดที่ได้เกิดขึ้นแล้วนับแต่เวลาทำละเมิด หาใช่เป็นการชดเชยหนี้ในอนาคตดังที่จำเลยฎีกาไม่ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติให้ถือว่า ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าขาดไร้อุปการะซึ่งเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่งได้ในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจึงชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

 

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

สรุป

เงินที่โจทก์ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมเป็นค่าทดแทนที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 18 ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม ได้จำเลยไม่อาจเอาค่าทดแทนที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับดังกล่าวมาขอลดหย่อนค่าขาดไร้อุปการะได้

ค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดที่ได้เกิดขึ้นแล้วนับแต่เวลาทำละเมิดมิใช่เป็นการชดเชยหนี้ในอนาคต และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าขาดไร้อุปการะซึ่งเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่งได้ในระหว่างผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง