Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เจตนารมณ์ในการยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมตามมาตรา 44/1 ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

เจตนารมณ์ในการยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมตามมาตรา 44/1 ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

1385
0

เจตนารมณ์ในการยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมตามมาตรา 44/1 ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10197/2556

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160

ระหว่างพิจารณา นายอัญชัน ผู้เสียหายที่ 1 นางมะขาม ผู้เสียหายที่ 2 เด็กหญิง ณ. ผู้เสียหายที่ 3 และเด็กชาย พ. ผู้เสียหายที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 31,020 บาท 64,082 บาท 36,775 บาท และ 862,330.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายทั้งสี่ตามลำดับ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย และอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 4 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ส่วนความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก โจทก์ร่วมทั้งสี่ไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต

จำเลยให้การรับสารภาพและให้การคดีในส่วนแพ่งว่า โจทก์ร่วมที่ 4 ไม่มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลจำนวน 62,330.40 บาท จากจำเลย เพราะโจทก์ร่วมที่ 1 รับราชการจึงมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลของบุตรได้ ทั้งยังได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อีกทั้งโจทก์ร่วมที่ 4 ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการได้รับความทุกข์ทรมานใจ 100,000 บาท และความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อระบบประสาทจนเป็นเหตุให้สูญเสียความสามารถทางสมองถึง 700,000 บาท หากได้รับความเสียหายในส่วนนี้ก็ไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกคำร้องขอของโจทก์ร่วมที่ 4

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย และฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานเป็นผู้ขับรถไม่หยุดช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 6,020 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 6,032 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 11,775 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระเงินจำนวน 312,330.40 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 4 โดยนำเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นจำนวน 170,000 บาท มาหักออกจากเงินจำนวนดังกล่าว คงให้จำเลยชำระเงินจำนวน 142,330.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งแทนโจทก์ร่วมทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ร่วมที่ 4 และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในคดีส่วนอาญา คดีส่วนแพ่งพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมที่ 4 จำนวน 412,330.40 บาท (142,330.40 บวก 300,000 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะคดีส่วนอาญา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งส่วนอาญาและส่วนแพ่งหรือไม่ เห็นว่า คดีส่วนอาญา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าวแล้วไม่ได้ คดีนี้ความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 390 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 มีอัตราโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และมาตรา 160 วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส จำคุก 3 เดือน และฐานไม่หยุดช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 1 เดือน ดังนี้ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญา และผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเพียงคนเดียวจึงชอบแล้ว สำหรับคดีส่วนแพ่ง แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” การที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและต้องไปดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมที่ 4 ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น แต่ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาและพิพากษาให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์ร่วมที่ 4 เป็นค่าเสียหายเกินกว่าทางนำสืบของโจทก์ร่วมที่ 4 และเกินคำขอตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์ร่วมที่ 4 เพิ่มนั้น เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อระบบประสาทจนเป็นเหตุให้สูญเสียความสามารถทางสมอง ซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้โจทก์ร่วมที่ 4 มีคำร้องขอให้จำเลยชดใช้เป็นเงิน 700,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 4 นำสืบค่าเสียหายส่วนนี้ โดยมีโจทก์ร่วมที่ 2 มารดาเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 4 ไม่เคยมีปัญหาทางการเรียน มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอด แต่ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 4 กลับมีพฤติกรรมก้าวร้าว และผลการเรียนตกต่ำไปมาก โจทก์ร่วมที่ 4 จึงขอเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ 700,000 บาท และมีครูประจำชั้นของโจทก์ร่วมที่ 4 มาเบิกความสนับสนุนว่า หลังจากโจทก์ร่วมที่ 4 ประสบอุบัติเหตุครั้งนี้แล้ว พบว่ามีอาการทางสมองเชื่องช้า ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนไม่ได้ ต้องมีเพื่อนในห้องคอยช่วยเหลือและผลการเรียนตกต่ำ รวมถึงยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาทศัลยกรรม เบิกความเพิ่มเติมด้วยว่า พยานวัดไอคิวโจทก์ร่วมที่ 4 หลังเกิดเหตุประมาณ 3 เดือน พบว่ามีระดับต่ำกว่าเกณฑ์ซึ่งทำให้โจทก์ร่วมที่ 4 สูญเสียโอกาสทางการศึกษา มีอาการสูญเสียความทรงจำไป และสมองส่วนที่เสียหายนั้นเป็นส่วนที่ใช้ในการยับยั้งชั่งใจจึงมีผลสัมพันธ์ให้โจทก์ร่วมที่ 4 มีอาการก้าวร้าว โดยโจทก์ร่วมที่ 4 ยังต้องรับการรักษาเป็นระยะๆ ในช่วงเวลา 1 ถึง 2 ปี นอกจากต้องใช้แพทย์ทางสมองแล้วยังต้องใช้แพทย์ทางด้านจิตเวชควบคู่ไปด้วย ดังที่กล่าวมานั้น โจทก์ร่วมที่ 4 นำสืบให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ร่วมที่ 4 อันเป็นผลมาจากการกระทำของจำเลยแล้ว โดยศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ 200,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 4 อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเฉพาะค่าเสียหายในส่วนนี้อีก 300,000 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เพิ่มตามที่โจทก์ร่วมที่ 4 ขอ ดังนั้นศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาเกินทางนำสืบของโจทก์ร่วมที่ 4 หรือเกินคำขอตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 4 แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้” การที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและต้องไปดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ดำเนินคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้ เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย กรณีไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่จะพิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้แม้โจทก์ร่วมที่ 4 ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น แต่ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้