Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เปลี่ยนช่องทางเดินรถกระชั้นชิด ถือว่าประมาทหรือไม่

เปลี่ยนช่องทางเดินรถกระชั้นชิด ถือว่าประมาทหรือไม่

237
0

เปลี่ยนช่องทางเดินรถกระชั้นชิด ถือว่าประมาทหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4185/2529

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๔๖, ๑๕๗

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

นางส้มรณายื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใด

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ แต่เป็นกรรมเดียวผิดหลายบท ลงบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑จำคุก ๕ ปี ยกฟ้องจำเลยที่ ๑

โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่นางส้มรณาร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้น ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับนายมะพลับผู้ตาย จึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๔๖, ๑๕๗ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก ๕ ปี ยกฟ้องจำเลยที่ ๒

โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ ๑ ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถบรรทุกหกล้อไปตามทางหลวงหมายเลข ๓ จากอำเภอศรีราชาโฉบหน้าไปทางอำเภอเมืองชลบุรีตามหลังรถบรรทุกสิบล้อซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ขับ รถที่จำเลยที่ ๑ ขัลได้เกิดเหุตเฉี่ยวชนถูกกระบะข้างด้านขวาตอนท้ายของรถจำเลยที่ ๒ ตรงบริเวณใกล้ทางเชื่อมที่เกิดเหตุแล้วรถจำเลยที่ ๑ เสียหลักแล่นไปชนรถยนต์เก๋งซึ่งนายมะพลับขับแล่นมาตามถนนด้านที่รถแล่นสวน เป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งกระเด็นไปชนรถยนต์กระบะซึ่งนายดาวเรืองขับตามหลังมาตกคู่ข้างถนน นายมะพลับกับนายชมพู่ถึงแก่ความตายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๒ ขับรถเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวาโดยมิได้ระมัดระวังดูรถที่แล่นตามมาทางด้านขวาให้ปลอดภัยเสียก่อน การที่จำเลยที่ ๒ เปลี่ยนช่องเดินรถออกไปในระยะกระชั้นชิดกับช่วงที่จำเลยที่ ๑ จะขับรถแซงเช่นนี้ แม้จำเลยที่ ๒ จะให้สัญญาณไฟเลี้ยวหรือไม่ก็ตามก็ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ ๒ จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และอาจใช้ความระมัดระวังได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ และการที่จำเลยที่ ๑ ขับตามหลังรถจำเลยที่ ๒ ก็ย่อมจะต้องระมัดระวังดูรถคันข้างหน้า หากจะขับแซงก็ต้องดูให้ดีเสียก่อนว่าสามารถแซงขึ้นไปได้โดยปลอดภัย แต่จำเลยที่ ๑ ขับรถด้วยความเร็วสูงมาก และจะแซงรถจำเลยที่ ๒ ไปในคราวเดียวกับที่แซงรถบรรทุกสิบล้ออีกคันหนึ่ง รถจำเลยที่ ๑ จึงเฉี่ยวชนกับรถจำเลยที่ ๒ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ขับรถด้วยความประมาท

ส่วนฎีกาของนางส้มรณาผู้ร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์นั้น ผู้ร้องเป็นพี่ของนายมะพลับผู้ตาย ไม่ใช่บุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕(๒) บัญญัติไว้ ไม่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗ การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลอาญา มาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป

จำเลยที่ 2 ขับรถบรรทุกสิบล้อในช่องเดินรถด้านซ้ายมีรถบรรทุกสิบล้อแล่นตามหลังหนึ่งคันและรถบรรทุกหกล้อที่จำเลยที่ 1 ขับตามมาอีกหนึ่งคัน การที่จำเลยที่ 2 ขับรถเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวา อันเป็นระยะกระชั้นชิดกับช่วงที่จำเลยที่ 1 จะขับรถแซง โดยจำเลยที่ 2 มิได้ระมัดระวังดูรถที่แล่นตามมาทางด้านขวาให้ปลอดภัยเสียก่อน แม้จำเลยที่ 2 จะให้สัญญาณไฟเลี้ยวหรือไม่ก็ตาม และการที่จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกหกล้อด้วยความเร็วสูงมากแซงรถบรรทุกสิบล้อคันหนึ่ง และจะแซงรถจำเลยที่ 2 ในคราวเดียวกัน โดยปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถของจำเลยที่ 2 ซึ่งเปลี่ยนช่องเดินรถออกมาทางขวา ดังนี้ เหตุชนกันจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยทั้งสอง

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใด เมื่อผู้ร้องเป็นพี่ของผู้ตาย จึงไม่ใช่บุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) ไม่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้อง