Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เพื่อนยืมรถแล้วเกิดอุบัติเหตุ ผู้ให้ยืมไปดูที่สถานีตำรวจ ถือว่าได้รับรถคืนหรือไม่

เพื่อนยืมรถแล้วเกิดอุบัติเหตุ ผู้ให้ยืมไปดูที่สถานีตำรวจ ถือว่าได้รับรถคืนหรือไม่

188
0

เพื่อนยืมรถแล้วเกิดอุบัติเหตุ ผู้ให้ยืมไปดูที่สถานีตำรวจ ถือว่าได้รับรถคืนหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1451/2522

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์ในสภาพเรียบร้อยถ้าส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 50,000 บาท ให้ใช้ค่าเสียหายวันละ 80 บาท จำเลยฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ว่า จำเลยไม่ได้ยืมรถจากโจทก์นั้น เห็นว่านายกล้วยไม้ ศรีดารณพ พยานโจทก์เบิกความยืนยันประกอบคำเบิกความของโจทก์ว่า จำเลยให้นายกล้วยไม้มายืมรถยนต์เพื่อเป็นพาหนะเดินทางไปทอดผ้าป่า นายกล้วยไม้ได้ติดต่อขอยืมรถจากโจทก์ และพาโจทก์ไปพบจำเลย เมื่อพบกันแล้วจำเลยได้พูดขอยืมรถจากโจทก์ คำเบิกความของโจทก์และนายกล้วยไม้ จำเลยก็รับอยู่ว่าจำเลยให้เงินนายกล้วยไม้ไปเติมน้ำมันรถในการเดินทาง เมื่อรถชนกันมีคนได้รับบาดเจ็บ จำเลยก็ช่วยค่ารักษาพยาบาลให้เหตุดังกล่าวประกอบข้ออ้างของโจทก์ให้มีน้ำหนักกว่าข้อต่อสู้ของจำเลย ซึ่งมีแต่คำเบิกความของจำเลยแต่ผู้เดียว ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลล่างทั้งสองที่ฟังว่าจำเลยยืมรถจากโจทก์ไปจริง

 

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่ารถของโจทก์ที่จำเลยยืมไปเกิดบุบสลายเพราะความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 นั้น เห็นว่า การยืมใช้คงรูปผู้ยืมมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อได้ใช้สอยเสร็จ ตามมาตรา 640 หากจำเลยมีข้ออ้างว่าไม่ต้องคืนรถและใช้ค่าเสียหาย เพราะรถของโจทก์เกิดชนกับรถอื่นโดยไม่ใช่ความผิดของฝ่ายจำเลย อันเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 214 จำเลยก็ต้องยกเหตุดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้และนำสืบให้ฟังได้ หาใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างและนำสืบดังจำเลยฎีกาไม่คดีนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่า รถของโจทก์ที่จำเลยยืมไปเกิดชนกับรถอื่นโดยจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิด ทั้งในชั้นพิจารณาก็ไม่มีการนำสืบกันถึงเหตุที่รถชนกันแต่ประการใด จำเลยในฐานะผู้ยืมจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด จำเลยต้องคืนรถและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คำพิพากษาฎีกาที่ 534/2506 และที่ 2424-2426/2520ที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกับคดีนี้

 

ฎีกาจำเลยที่ว่า ศาลล่างกำหนดราคารถและค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์สูงเกินไปนั้น ได้ความว่าโจทก์เช่าซื้อรถมาในราคา 69,780 บาท โจทก์ใช้รถได้ 1 ปีเศษ ก็เกิดเหตุคดีนี้ โจทก์เบิกความว่าขณะนั้นรถของโจทก์จะขายได้ในราคา 50,000 บาท จำเลยมิได้นำสืบปฏิเสธราคารถดังกล่าว ทั้งยังเบิกความรับว่ารถของโจทก์ค่อนข้างใหม่ ราคารถของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดในกรณีจำเลยต้องใช้ราคาเป็นเงิน 50,000 บาท จึงเป็นราคาที่สมควร เกี่ยวกับค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถนั้น โจทก์อ้างว่าใช้รถรับส่งคนงานของกรมการค้าภายในมีรายได้สุทธิวันละ 130 บาท จำเลยว่าหากโจทก์ใช้รถวิ่งรับส่งคนโดยสารจะมีรายได้สุทธิวันละประมาณ 40 – 50 บาท แต่ทั้งสองฝ่ายไม่มีพยานนำสืบให้ฟังได้แน่นอน ตามพฤติการณ์ที่โจทก์ใช้รถวิ่งหาประโยชน์ดังโจทก์นำสืบน่าจะมีรายได้สุทธิมากกว่าวันละ 50 บาท ศาลล่างใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้วันละ 90 บาท เหมาะสมแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไปดูรถของโจทก์ที่สถานีตำรวจเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2518 ถือได้ว่าโจทก์ได้รับรถคืนแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์เพียงแต่ไปดูความเสียหายของรถเท่านั้น โจทก์ไม่ได้ขอรับรถคืน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับรถคืนแล้ว”

 

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยยืมรถยนต์ของโจทก์เป็นพาหนะไปทอดผ้าป่าแล้วรถชนกันเสียหาย จำเลยต้องคืนและใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่ามิได้เป็นผู้ยืม ไม่ได้อ้างว่าเหตุเกิดโดยจำเลยไม่ผิด ไม่มีประเด็นในข้อนี้ซึ่งจำเลยเป็นฝ่ายที่ต้องอ้างและนำสืบ