Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เมาแล้วขับ และขับรถหวาดเสียวมีโอกาสก่อให้เกิดอันตราย ศาลมีโอกาสไม่รอการลงโทษหรือไม่

เมาแล้วขับ และขับรถหวาดเสียวมีโอกาสก่อให้เกิดอันตราย ศาลมีโอกาสไม่รอการลงโทษหรือไม่

300
0

เมาแล้วขับ และขับรถหวาดเสียวมีโอกาสก่อให้เกิดอันตราย ศาลมีโอกาสไม่รอการลงโทษหรือไม่

จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(2)(4), 157 ให้เรียงกระทงลงโทษฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จำคุก 4 เดือน ฐานขับรถในขณะเมาสุราปรับ 500 บาท ฐานขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียว ปรับ 500 บาทรวมจำคุก 4 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนคำขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 29/2541 นั้น คดีดังกล่าวศาลรอการลงโทษจำคุกให้ยกคำขอส่วนนี้ของโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จำเลยจะมีความรู้ระดับปริญญาตรีซึ่งควรจะรู้จักผิดชอบเป็นอย่างดี แต่จำเลยกลับดื่มสุราจนมึนเมาแล้วขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง ด้วยความประมาทและน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุม จำเลยก็ขับรถยนต์ฝ่าด่านและใช้เท้าถีบเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งกระทำการตามหน้าที่จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(2) โดยมิได้ระบุบทกำหนดโทษตามมาตรา 160 วรรคสามด้วยนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องและในความผิดดังกล่าวศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลย 500 บาทแต่ตามมาตรา 160 วรรคสาม มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาจึงเป็นการลงโทษปรับจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเพิ่มขึ้น ศาลฎีกาจึงลงโทษปรับจำเลยเพิ่มขึ้นไม่ได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(2), 160 วรรคสามและให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง 2 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1