Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ แจ้งเลขตัวถัง และเลขเครื่องยนต์ผิดพลาก มีผลทำให้สัญญาประกันเป็นโมฆะหรือไม่

แจ้งเลขตัวถัง และเลขเครื่องยนต์ผิดพลาก มีผลทำให้สัญญาประกันเป็นโมฆะหรือไม่

662
0

แจ้งเลขตัวถัง และเลขเครื่องยนต์ผิดพลาก มีผลทำให้สัญญาประกันเป็นโมฆะหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2543

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนย – 1388 นนทบุรีของโจทก์มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 เมื่อกลางเดือนกันยายน 2535 นายอัญชัน พนักงานขับรถของโจทก์ได้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันกลับจากจังหวัดอุตรดิตถ์มีสุนัขวิ่งตัดหน้า รถยนต์เสียหลักพลิกคว่ำได้รับความเสียหายโจทก์นำรถยนต์ไปซ่อมโดยจำเลยเป็นผู้ตกลงค่าซ่อมกับผู้ซ่อมเป็นเงิน 80,000บาท แต่เมื่อช่างซ่อมเสร็จแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าซ่อมอ้างว่าไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ โจทก์ซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ย – 1388 นนทบุรีจากบริษัทโตโยต้านนทบุรีผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด แต่ผู้ขายแจ้งหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังแก่ผู้รับประกันภัยรายแรกคลาดเคลื่อนโดยแจ้งหมายเลขของรถคันอื่น เมื่อโจทก์นำรถยนต์มาเอาประกันภัยต่อจำเลยได้นำหลักฐานเดิมมามอบให้จำเลยเป็นเหตุให้ตัวเลขในตารางกรมธรรม์คลาดเคลื่อน โจทก์เพิ่งทราบว่าหมายเลขเครื่องยนต์หมายเลขตัวถังและตัวอักษรนำหน้าหมายเลขทะเบียนคลาดเคลื่อนไปต่อเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

 

จำเลยให้การว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียนม – 1388 นนทบุรี หมายเลขเครื่องยนต์ 2 แอล – 2037814 หมายเลขตัวถังแอลเอ็น 56 – 0180332 ไว้จากโจทก์ตามที่บันทึกไว้ในตารางกรมธรรม์ ไม่ใช่รถยนต์หมายเลขทะเบียน ย – 1388 นนทบุรี หมายเลขเครื่องยนต์ 2 แอล – 2037641 หมายเลขตัวถังแอลเอ็น 56 – 0180425หลังจากรถยนต์เกิดอุบัติเหตุแล้ว โจทก์จึงมาขอแก้หมายเลขทะเบียนหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถัง จำเลยสำคัญผิดในตัวทรัพย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆะเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ค่าซ่อมค่าอะไหล่รวมแล้วไม่เกิน 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

 

จำเลยฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง คงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ย – 1388 นนทบุรีที่เกิดอุบัติเหตุตามรายการจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย จ.1 โจทก์ทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยโดยกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ระบุว่า รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม – 1388 นนทบุรี กับระบุหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังคลาดเคลื่อนไปตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งโจทก์พิสูจน์ได้ว่าเป็นเพราะผู้ขายรถยนต์ให้แก่โจทก์แจ้งผิดมาตั้งแต่ทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายแรก ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยรับประกันภัยรถยนต์ซึ่งมีหมายเลขทะเบียนหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังไม่ตรงกับรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุเนื่องจากผู้ขายรถยนต์ให้โจทก์แจ้งหมายเลขดังกล่าวผิดพลาด ถือว่าจำเลยแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวทรัพย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอันจะมีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 นั้น จะต้องเป็นการสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม โดยการทำสัญญาประกันภัยรถยนต์นั้นถือเอาตัวรถยนต์เป็นสาระสำคัญ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยผู้รับประกันภัยออกให้แก่โจทก์ ได้ระบุรายการรถยนต์ที่โจทก์เอาประกันภัย คือ รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นปี ค.ศ. 1989 ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบบตัวถังนั่งสองแถวและเป็นรถยนต์ 4 ล้อตรงกับรายการจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ย – 1388 นนทบุรีตามเอกสารหมาย จ.1 ของโจทก์ และจำเลยมิได้โต้แย้งว่าโจทก์มีรถยนต์คันอื่นอีก กรณีเช่นนี้จึงมิใช่การสำคัญผิดในตัวรถยนต์ที่โจทก์เอาประกันภัยว่าไม่ใช่รถยนต์หมายเลขทะเบียน ย – 1388 นนทบุรีของโจทก์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ หมายเลขเครื่องยนต์ และหมายเลขตัวถังเป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่เอาประกันภัย แม้จะระบุในกรมธรรม์ประกันภัยคลาดเคลื่อนไปก็ไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ ดังจะเห็นได้จากเมื่อโจทก์ขอแก้หมายเลขทะเบียนหมายเลขเครื่องยนต์ และหมายเลขตัวถังของรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้ถูกต้อง แม้เป็นการขอแก้ไขเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว จำเลยก็จัดการแก้ไขให้ทุกรายการโดยนายมินตรา กรรมการผู้อำนวยการของจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในเอกสารแก้รายการรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.3 การทำสัญญารับประกันภัยของจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2 จึงมิใช่การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และจำเลยไม่ตกเป็นโมฆะและคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาว่า การแจ้งหมายเลขทะเบียนรถยนต์ หมายเลขเครื่องยนต์ และหมายเลขตัวถังคลาดเคลื่อนไปเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์หรือไม่ตามที่จำเลยฎีกาอีก เพราะไม่มีผลทำให้ความรับผิดตามสัญญาประกันภัยของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

 

พิพากษายืน

สรุป

การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมย่อมมีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 156 สัญญาประกันภัยรถยนต์ย่อมถือเอาตัวรถยนต์เป็นสาระสำคัญตามกรมธรรม์ซึ่งจำเลยผู้รับประกันภัยออกให้แก่โจทก์ ระบุรายการรถยนต์ที่เอาประกันภัยตรงกับรายการจดทะเบียนรถยนต์ของโจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งว่าโจทก์มีรถยนต์คันอื่นอีก หมายเลขทะเบียนรถยนต์ หมายเลขเครื่องยนต์ และหมายเลขตัวถังเป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่เอาประกันภัย เมื่อโจทก์ขอแก้หมายเลขทะเบียน หมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังของรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้ถูกต้อง แม้ขอแก้ไขภายหลังเกิดอุบัติเหตุแล้ว จำเลยก็แก้ไขให้ทุกรายการ การทำสัญญารับประกันภัยของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญในตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมไม่ตกเป็นโมฆะ