Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ โต้เถียงเรื่องค่าเสียหายสูงขึ้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่

โต้เถียงเรื่องค่าเสียหายสูงขึ้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่

162
0

โต้เถียงเรื่องค่าเสียหายสูงขึ้น เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8651/2547

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้าไปจากโจทก์ในราคา 419,040 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้องวดละเดือน รวม 36 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 6 งวด แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 7 เป็นต้นมา โจทก์ทวงถามและติดตามยึดรถยนต์คืนมาได้โดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 3,000 บาท และนำออกประมูลขายได้ราคา 236,363.64 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนเป็นเวลา 6 เดือน เป็นเงินจำนวน 69,840 บาท ค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ 112,836 บาท และค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์คืน 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 185,676 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 185,676 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 97,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 31,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาโจทก์เฉพาะข้อ 3 โดยเห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าขาดประโยชน์เพิ่มขึ้นตามที่โจทก์ฟ้องจำนวน 69,840 บาท ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในค่าขาดประโยชน์รถยนต์ 36,000 บาท ค่าขาดราคา 60,000 บาท และค่าติดตามรถคืน 1,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา ส่วนโจทก์มิได้อุทธรณ์ เท่ากับโจทก์เห็นด้วยกับค่าขาดประโยชน์ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ค่าขาดประโยชน์ลดลงเหลือจำนวน 21,600 บาท โจทก์จะฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำเลยทังสองชำระค่าขาดประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่าที่โจทก์ฟ้องจำนวน 69,840 บาทไม่ได้ โจทก์คงมีสิทธิฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ในส่วนค่าขาดประโยชน์เพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 36,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์จึงมีเพียง 14,400 บาท การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้สูงขึ้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหาย เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงมิใช่ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

อนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 31,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยมิได้พิพากษารวมค่าติดตามยึดรถคืนจำนวน 1,000 บาท เข้าไปด้วย ซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งทำให้คำพิพากษาและคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ไร้ผล ปัญหาดังกล่าวนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247”

สรุป

โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าขาดประโยชน์เพิ่มขึ้นตามที่โจทก์ฟ้องจำนวน 69,840 บาท ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในค่าขาดประโยชน์รถยนต์ 36,000 บาท ค่าขาดราคา 60,000 และค่าติดตามรถคืน 1,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคา ส่วนโจทก์มิได้อุทธรณ์ เท่ากับโจทก์เห็นด้วยกับค่าขาดประโยชน์ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ค่าขาดประโยชน์ลดลงเหลือจำนวน 21,600 บาท โจทก์จะฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่าที่โจทก์ฟ้องจำนวน 69,840 บาทไม่ได้ โจทก์คงมีสิทธิฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ในส่วนค่าขาดประโยชน์เพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 36,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์จึงมีเพียง 14,400 บาท การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้สูงขึ้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหาย เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงมิใช่ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 31,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยมิได้พิพากษารวมค่าติดตามยึดรถคืนจำนวน 1,000 บาท เข้าไปด้วย ซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้ง ทำให้คำพิพากษาและคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ไร้ผล ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247