Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ได้เงินจากกองทุนผู้ประสบภัยแล้ว สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้อีกหรือไม่

ได้เงินจากกองทุนผู้ประสบภัยแล้ว สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้อีกหรือไม่

190
0

ได้เงินจากกองทุนผู้ประสบภัยแล้ว สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้อีกหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5064/2550

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 55,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย วันที่ 17 กันยายน 2546 จำเลยทั้งสองยื่นคำแถลงขอวางเงินชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมเป็นเงินจำนวน 49,338.50 บาท โดยอ้างว่าโจทก์ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 15,000 บาท จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแล้ว วันที่ 8 ตุลาคม 2546 โจทก์แถลงขอรับเงินที่จำเลยทั้งสองนำมาวางชำระหนี้โดยขอสงวนสิทธิที่จะบังคับคดีในส่วนที่ขาดอยู่ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์รับเงินดังกล่าวได้

วันที่ 21 ตุลาคม 2546 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองยังคงต้องรับผิดใช้เงินตามคำพิพากษาให้โจทก์อีก 16,299 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวน วันที่ 22 ตุลาคม 2546 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายบังคับคดีโดยอ้างว่าโจทก์ได้รับเงินจำนวน 15,000 บาท จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 และจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยไปแล้ว ซึ่งเงินจำนวน 15,000 บาท ที่โจทก์ได้รับไปนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของจำเลยทั้งสองไว้เป็นคำคัดค้านคำขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์

ในวันนัดไต่สวน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ได้รับเงินจำนวน 15,000 บาท จากกรณีที่บุตรของจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดคดีนี้จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งเงินเพิ่มให้แก่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดไต่สวน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 23 (6) ได้บัญญัติให้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากเงินกองทุนซึ่งรวมถึงกรณีที่ความเสียหายที่เกิดแก่ผู้ประสบภัยนั้นเกิดจากรถที่ไม่ได้เอาประกันภัยไว้ และมาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองโดยที่โจทก์ได้รับเงินจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมาส่วนหนึ่งแล้วและตามคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นการเรียกร้องเอาค่าเสียหายนอกเหนือจากส่วนที่ได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยไป ทั้งเงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่ใช่ประเด็นที่มีการว่ากล่าวกันไว้ในชั้นพิจารณา ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลกำหนดให้ตามคำพิพากษาย่อมถือเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากเหตุละเมิดครั้งนี้ ซึ่งเงินที่โจทก์ได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนที่ศาลกำหนด และเมื่อโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วจึงไม่อาจเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้อีกจึงมีคำสั่งให้ยกคำขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 55,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษารวมถึงเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 15,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 15,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 25 วรรคสอง ก็ตาม แต่ในการทำคำพิพากษา ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดโดยมิได้วินิจฉัยถึงเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาโดยรวมถึงเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 15,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเข้าไว้ด้วย ดังนั้น เงินจำนวน 55,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาจึงไม่รวมถึงเงินจำนวน 15,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เมื่อจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาเพียง 49,338.50 บาท โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองสำหรับจำนวนเงินที่ขาดอยู่ต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์

สรุป

แม้เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 15,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 25 วรรคสอง ก็ตาม แต่ในการทำคำพิพากษา ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดโดยมิได้วินิจฉัยถึงเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาโดยรวมถึงเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 15,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเข้าไว้ด้วย ดังนั้น เงินจำนวน 55,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาจึงไม่รวมถึงเงินจำนวน 15,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เมื่อจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาเพียง 49,338.50 บาท โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองสำหรับทั้งสองสำหรับจำนวนเงินที่ขาดอยู่ต่อไปได้