Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ไม่ยอมเป่าแอลกอฮอร์ขณะขับรถมีความผิดอะไรบ้าง

ไม่ยอมเป่าแอลกอฮอร์ขณะขับรถมีความผิดอะไรบ้าง

77
0

ไม่ยอมเป่าแอลกอฮอร์ขณะขับรถมีความผิดอะไรบ้าง

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 368 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 142, 157, 160 ตรี

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 368 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4), 142 (2) วรรคสี่ (ที่ถูก 142 วรรคสอง, 154 (3)), 157, 160 ตรี วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 40,000 บาท ฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น จำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 (ที่ถูก มาตรา 368 วรรคหนึ่ง) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คงจำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น จำคุก 1 เดือน และปรับ 2,500 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ ปรับ 2,500 บาท รวมจำคุก 2 ปี 1 เดือน และปรับ 25,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง และให้เข้ารับการอบรมความรู้ในการใช้ยานพาหนะตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคสี่ อีกบทหนึ่ง ไม่ปรับบทลงโทษและไม่ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง ฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายกับฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 2,500 บาท ไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วางโทษจำเลยก่อนลดโทษให้จำคุก 3 ปี เป็นการวางโทษในอัตราโทษขั้นต่ำตามกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราย่อมส่งผลต่อร่างกายทำให้ไม่สามารถใช้ความระมัดระวังได้อย่างเต็มที่ดังเช่นในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ และความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะย่อมลดลง โดยเฉพาะการขับรถในเวลากลางคืนที่มีแสงสว่างน้อย โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุย่อมมีมากขึ้น การที่จำเลยขับรถในเวลากลางคืนในขณะเมาสุราด้วยความเร็วสูงเกินสมควรทั้งจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมรถให้หยุดหรือชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะหลบหลีกไม่ชนรถที่อยู่ข้างหน้าได้ทัน เป็นเหตุให้ชนผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์อยู่ด้านหน้าอย่างแรงจนถึงแก่ความตาย นอกจากนี้เมื่อพนักงานสอบสวนมีคำสั่งให้ทดสอบว่าเมาสุราหรือไม่จำเลยกลับฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ยอมรับการทดสอบโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอีกด้วย นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย และขาดความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติโดยจำเลยไม่คัดค้านว่า จำเลยเคยกระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2154/2551 ของศาลชั้นต้น และฐานขับรถขณะเมาสุรา ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.426/2557 ของศาลแขวงพิษณุโลก ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลได้ให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่จำเลยกลับมากระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้หลาบจำหรือสำนึกที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดี แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ทายาทผู้ตายจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยแล้ว หรือมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่อ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง การที่จำเลยไม่ยอมทดสอบว่าเมาสุราหรือไม่ตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่สั่งตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 142 วรรคสอง ความว่าในกรณีเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันจะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ ซึ่งหากฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้จะมีส่วนที่ว่าด้วยบทกำหนดโทษในมาตรา 154 (3) โดยระวางโทษปรับครั้งละไม่เกินหนึ่งพันบาท จึงเห็นได้ว่าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนี้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว กรณีจึงไม่เป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามความหมายของมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นกฎหมายทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142 วรรคสอง, 154 (3) ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 500 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 1 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้ว เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 500 บาท ยกฟ้องข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

สรุป

การที่จำเลยไม่ยอมทดสอบว่าเมาสุราหรือไม่ ตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่สั่งตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 142 วรรคสองแล้ว จึงไม่เป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตามความหมายของมาตรา 368 แห่ง ป.อ. อันเป็นบททั่วไปอีก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 368 วรรคหนึ่ง