คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2558

ข้อตกลงที่ระบุไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความสรุปว่า ความเสียหายของรถยนต์พิพาทนั้น พ. ผู้ครอบครองรถยนต์จะใช้สิทธิการซ่อมตามประกันภัยของตน ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทได้เรียกร้องจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ พ. แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่ายจำเลยที่ 1 แสดงว่า พ. ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ประสงค์ที่จะให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมตามสัญญาประกันภัย ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทที่เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่ พ. เรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถยนต์ ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ทำให้สิทธิในการเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลงอันเป็นการระงับข้อพิพาทตามลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์พิพาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

หมายเหตุ

1.คดีนี้ จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนรถยนต์ของ พ.ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยไว้ ในการเจรจาค่าเสียหายกันที่สถานีตำรวจ พ.แจ้งว่าจะให้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบในการซ่อมแซม และเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท แล้วจะไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป

2.ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อตกลงกันดังกล่าวไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะ พ.ยืนยันให้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยรับผิดชอบในการซ่อมแซมรถยนต์ของ พ. ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมแซมรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2554

การประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 นั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีใจความเพียงว่า “ค่าเสียหายในการนี้ คู่กรณีทั้งสองตกลงกันเองได้และจะนำไปซ่อมกันเอง” ไม่มีสาระสำคัญแสดงว่าจำเลยเจรจาตกลงกับ ส. คนขับรถบรรทุกหกล้อที่โจทก์รับประกันภัยไว้ในเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้งแต่อย่างใด จึงไม่มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย มูลหนี้ละเมิดจึงไม่ระงับสิ้นไปเมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำรถยนต์บรรทุกหกล้อคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้

ตามปกติ หากมีการลงบันทึกประจำวัน ตัวแทนจากบริษัทประกันภัยก็จะขอบันทึกประจำวันดังกล่าวไปด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติซ่อมแซมรถยนต์ให้กับผู้เอาประกัน โดยหากเห็นว่าผู้เอาประกันเป็นฝ่ายถูกกระทำละเมิด (หรือที่เรียกกันว่าฝ่ายถูก) แล้ว บริษัทประกันก็จะนำค่าเสียหายดังกล่าวที่ได้จ่ายให้กับผู้เอาประกันของตน มาฟ้องเอากับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง(ฝ่ายผิด,ฝ่ายประมาท) หรือหากคู่กรณีได้ทำประกันภัยไว้เช่นกัน ก็เป็นเรื่องที่บริษัทประกันทั้งสองต้องไปว่ากล่าวกันเองต่อไป

สรุป

กรณีดังกล่าวไม่ใช่การตกลงสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือปลดหนี้ เพียงแต่เป็นการแสดงเจตนาว่าจะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยเท่านั้น บริษัทประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยค่าเสียหายเอากับผู้กระทำละเมิดอยู่เช่นเดิม

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716