กระบวนการบังคับคดี EXECUTION PROCEEDING หลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตัดสินคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยปกติในคำิพิพากษาของศาลนั้น ก็จะมีการกำหนดให้ฝ่ายจำเลย หรือฝ่ายที่แพ้คดี ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ เช่น ให้จำเลยคืนเงิน หรือให้ชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ ให้จำเลยออกไปจากบ้าน หรือรื้อถอนสิ่งต่างๆ ออกไปจากที่ดินของคนอื่น เป็นต้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาและได้ส่งคำบังคับให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จะต้องดำเนินการออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลย โดยเมื่อหมายบังคับคดีถูกส่งไปยังกรมบังคับคดี โจทก์มีหน้าที่จะต้องไปตั้งเรื่องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี

เหตุที่ต้องทำการบังคับคดี ก็เนื่องมาจากการที่จำเลย หรือฝ่ายที่แพ้คดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภายในเวลาที่กำหนดนั้นเอง ดังนั้นจุดประสงค์ของการบังคับคดี ก็คือการบังคับ หรือการทำให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลนั้นเอง

การบังคับคดีนั้น มีขั้นตอนและมีวิธีการที่กฎหมายกำหนดเอาไว้แล้วอย่างชัดเจน ดังนั้นฝ่ายที่ชนะคดีจะเข้าไปบังคับให้ฝ่ายที่แพ้คดี ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลด้วยตัวเองไม่ได้ การดำเนินการต่างๆ นั้นจะต้องดำเนินการผ่านเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็คือ “เจ้าพนักงานบังคับคดี” เท่านั้น

การบังคับคดีกับฝ่ายที่แพ้คดีนั้น สามารถทำได้หลายอย่าง แต่จะทำได้อย่างไร แค่ไหนนั้น ก็ต้องกลับไปดูคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นหลักว่า ได้ให้ฝ่ายที่แพ้คดีทำอะไรบ้าง เช่น หากศาลมีคำพิพากษาให้ฝ่ายที่แพ้คดีใช้หนี้เป็นเงินให้กับฝ่ายที่ชนะคดี หากปรากฏว่าภายหลังฝ่ายที่แพ้คดีไม่ยอมทำตามที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเอาไว้ การบังคับคดีนั้นก็จะเป็นการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินต่างๆ ของฝ่ายที่แพ้คดี เช่น การอายัดเงินเดือน การอายัดเงินฝากในธนาคาร การยึดเอาที่ดิน ยึดบ้าน ยึดรถยนต์มาขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินที่ขายได้นั้น มาชำระหนี้ให้กับฝ่ายที่ชนะคดีเป็นต้น

การจะทำการบังคับคดีตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลนั้น มีกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายที่ฝ่ายผู้ชนะคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดี คือ กำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด หากฝ่ายที่ชนะคดีไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนด ก็จะไม่สามารถบังคับคดีเอากับฝ่ายที่แพ้คดีได้อีก ส่วนกระบวนการขายทอดตลาดจะขายหลังจาก 10 ปีก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเพียงวิธีการเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 9275/2542)

สรุป ดังนั้นจุดประสงค์ของการบังคับคดี ก็คือการบังคับ หรือการทำให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลนั้นเอง

ปรึกษาทีมงานทนายความ
ทนายอธิป 061-939-9935
ทนายเบส 091-939-4249
ทนายหนึ่ง 084-444-8952
ทนายตี๋ใหญ่ 088-021-7716